Forex-Currency Trading-Swiss based forex related website. Home ----- กระดานสนทนาหน้าแรก ----- Gold Chart,Silver,Copper,Oil Chart ----- gold-trend-price-prediction ----- ติดต่อเรา
หน้า: [1] 2   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: คติธรรม  (อ่าน 2877 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
gypsy
Full Member
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 710



« เมื่อ: ธันวาคม 02, 2009, 07:54:02 PM »

เรื่องภายในย่อมสำคัญกว่าเรื่องภายนอก

คนที่รู้เพียงเปลือกนอกย่อมสู้คนที่รู้ถึงแก่นไม่ได้

อดีต คือ ความฝัน      ปัจจุบัน คือ ภาพมายา     อนาคต คือ ความไม่แน่นอน

คิดก่อนทำ     อดทนไว้     พึงอภัย

ไม่มีอะไรเป็นของเรา     แม้แต่ตัวของเราเอง
โกงคนอื่น         เหมือนจุดไฟเผาตัวเอง
เมตตาคนอื่น         เหมือนสร้างบ้านให้ตัวเอง
ระแวงคนอื่น     ยิ่งกว่าระวังตัวเอง
ชีวิตไม่พอกับตัณหา     เวลาไม่พอกับความต้องการ
ที่พักครั้งสุดท้าย     คือป่าช้า
ถ้าท่านทำงานแข่งกับสังคม     ความพินาศล่มจมจะตามมา
ถ้าท่านทำงานเห็นแก่หน้า     ท่านจะพบปัญหาเรื่อยไป
ถ้าท่านทำตัวเห็นแก่ได้     ท่านอย่าหวังน้ำใจจากเพื่อนฝูง
ถ้าท่านกล้าเกินไป     ท่านจะทำอะไรไม่สำเร็จ
ถ้าท่านกล้าจนเกินงาม     ท่านจะพบกับความเดือดร้อน
ถ้าท่านขาดความพอดี     ท่านจะพบกับความทุกข์อย่างมหันต์
ถ้าท่านขาดความยั้งคิด     ชีวิตทั้งชีวิตจะหมดความหมาย
ถ้าท่านทำใจให้สงบ     ท่านจะพบความสุขที่เยือกเย็น
ถ้าท่านมีความพอดี     ท่านจะเป็นเศรษฐีในเรือนยาจก
ถ้าท่านมีแต่ความงก     ท่านจะเป็นยาจกในเรือนเศรษฐี
ถ้าท่านมีเมตตาจิต     ท่านจะมีญาติมิตรทั่วบ้าน
ถ้าท่านเมตตาเกินประมาณ     ท่านจะพบคนพาลทั่วเมือง
ถ้าท่านคิดถึงความหลัง     ท่านจะพบรังแห่งความเศร้า
ถ้าท่านมีความมัวเมา     ท่านจะพบความปวดร้าวภายหลัง
ถ้าท่านทำดีเพื่อเด่น     ท่านจะถูกเขม่นจากญาติมิตร
ถ้าท่านทำดีเพื่อน้ำจิต     ท่านจะมีชีวิตอยู่อย่างสบาย
ถ้าท่านหวังพึ่งแต่คนอื่น     ท่านจะต้องกลืนน้ำตาตัวเอง
ถ้าท่านรู้จักใช้เวลา     ชีวิตจะมีค่ากว่านี้
ถ้าท่านกินอยู่เท่าที่มี     จะได้เป็นเศรษฐีเงินกู้
ถ้ามั่วสุมกับอบายมุข     จะพบความทุกข์ในบั้นปลาย
ถ้าทำหูเบาตามเขาว่า     จะต้องน้ำตาตกใน
ถ้าพูดโดยไม่คิด      เท่ากับพ่นลมพิษใส่คนอื่น
ถ้าจริงจังกับโลกเกินไป     จะต้องตายเพราะความเศร้า
ถ้าต้องการเป็นอิสระ     ให้พยายามชนะใจตนเอง
ถ้าไม่รู้จักความทุกข์     จะพบกับความสุขได้ที่ไหน
ถ้าไม่ยอมปล่อยวาง     จะพบกับความว่างได้อย่างไร
ถ้าหาความสุขจากความมัวเมา     ท่านกำลังจับเงาในกระจก
ถ้าอยากเป็นคนงาม     อย่าวู่วามโกรธง่าย
ถ้าอยากเป็นคนสบาย     อย่าเบื่อหน่ายความเพียร
ถ้าอยากเป็นคนมั่งมี     อย่าเป็นคนดีแต่จ่าย
ถ้าอยากเป็นคนนำสมัย     อย่าทำลายวัฒนธรรม
ถ้าอยากเป็นคนมีเกียรติ     อย่าเหยียดหยามคนอื่น
ถ้าอยากเป็นคนมีความรู้     อย่าลบหลู่อาจารย์
ถ้าอยากพบความสำราญ     อย่าล้างผลาญสมบัติ
ถ้าอยากเป็นคนมีอำนาจ     อย่าขาดความยุติธรรม
ถ้าอยากเป็นคนดัง     อย่าหวังความสงบ
ถ้าอยากเป็นที่เคารพ     ต้องพบความจบก่อนตาย

(อย่าพยายามทำใจคนอื่นให้เหมือนใจเรา  เพราะเราก็ทำใจให้เหมือนใจคนอื่นไม่ได้)

บันทึกการเข้า

ขอโทษที่ไม่ตอบ ขอบคุณที่ทักทาย
~ uma ~
Newbie
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 98



« ตอบ #1 เมื่อ: ธันวาคม 11, 2009, 11:07:27 AM »

อดีต คือ ความฝัน      ปัจจุบัน คือ ภาพมายา     อนาคต คือ ความไม่แน่นอน

คิดก่อนทำ     อดทนไว้     พึงอภัย

อยู่กับปัจุบันให้ดีที่สุด  ........ ว่าม่ะค่ะ.. Smiley
บันทึกการเข้า
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #2 เมื่อ: มกราคม 05, 2013, 12:44:01 PM »

มุมมองในชีวิตของการปฏิบัติธรรม

หลายคนเคยตั้งคำถามขึ้นในใจตนเองว่า
คนเราเกิดมาเพื่ออะไร - มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร


หลายคนบอกกับตัวเองว่า


เกิดมาเพื่อชดใช้กรรม - เกิดมาเพื่อเสวยสุข เสพสุขความสนุกสนานเกิดมาเพื่ออะไรก็ไม่รู้
เกิดมาเพื่อการเรียนรู้ - เกิดมาเพื่อการสร้างบารมี ไม่ว่าจะเพื่อพระนิพพาน ก็ดี หรือ เพื่อ
สัมมาสัมโพธิญาณก็ดี มุมมองในชีวิตถูกสะท้อนออกมาในคำตอบของแต่ละ บุคคล ส่งผลต่อ
การมองโลก รวมทั้งการใช้ชีวิตดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นยามสุข ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแล้วแต่
ดี ล้วนแต่วิเศษไปทั้งนั้นแต่เมื่อความทุกข์มาเยือนเมื่อนั้นล่ะจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ใจและ ภูมิธรรม
ของผู้นั้นว่าเห็นธรรมได้แค่ไหนระดับไหนแท้ที่จริงทุกคนเกิดมา ด้วยผลของกรรม ไม่ว่า
จะเป็นกรรมดี ก็ตาม กรรมชั่วก็ตามมีกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเรื่องราวต่างๆกันไปในชีวิต


ต้องมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นต้องรู้จักกับคนนั้น พรากจากคนนี้ คนนั้นดีกับเราคนนี้กลับมาทำ
ร้ายเราเรื่องราวเหล่านี้ .... ทุก ๆคนบนโลกล้วนต้องประสพพบเจอทั้งสิ้นครับแต่ผู้ที่มีภูมิธรรมสูง
เข้าใจโลก และ ชีวิต มีวิปัสสนาญาณสูงจะรู้ทุกข์น้อยกว่าผู้ที่มีอวิชชา ความยึดมั่นถือมั่นสูง
กว่าในเหตุการณ์ความทุกข์ที่มาประสพที่รุนแรงเท่าๆกันเพราะมุมมองต่างกันความยึดมั่นถือมั่น
ในขันธ์ 5 มากน้อยต่างกันการเข้าถึงความเป็นธรรมดาเห็นความ เป็นธรรมชาติได้ลึกซึ้ง
ต่างกันนั่นคือการปลดเปลื้องอวิชชาออกไปได้จนเบาบางได้ไม่เท่ากัน



หลายครั้งที่การปฏิบัติธรรมเราได้เห็นความทุกข์ และ จมอยู่ในทะเลทุกข์นั้นอย่างมอง
ไม่เห็นฝั่ง ( ทางออกแห่งทุกข์ ) คลื่นแห่งความทุกข์ถาโถมสู่ตัวเราลูกแล้วลูกเล่าเราก็ได้
แต่บอกตัวเองว่ามันเป็นกรรมที่ส่งผลมาในปัจจุบันนี้หวังในใจอยู่ลึกๆที่จะรอให้คลื่นลม
สงบไปด้วยตัวของมันเอง เพราะเรามองว่าชีวิตเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมแต่วันหนึ่งเรา
ได้เปลี่ยนมุมมองใหม่เราสังเกตคลื่นแห่งทุกข์ ว่ามันเคลื่อนที่อย่างไรซัดท่าไหน
เราจะหลบมันอย่างไร จะประคองตัวอย่างไรเราจึงเกิดปัญญา [ ดับอวิชชา ]
ขึ้นมาได้ว่าชีวิตก็ คือ การเรียนรู้รู้ที่จะมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ทุกข์ ประดุจหยาดน้ำที่กลิ้ง
อยู่บนใบบอน ใบบอนไม่เปียกเพราะไม่ซับน้ำฉันใดใจเราก็ไม่ทุกข์เพราะไม่นำความทุกข์
ไปปรุงแต่งฉันนั้นเช่นกัน ความทุกข์และผู้นำความทุกข์มาให้ล้วนเป็นครูสอนเราให้เรียนรู้


เมื่อเห็นทุกข์ [ จึงต้องการออกจากทุกข์ จึงค้นหาสัจจรรม ] จึงเห็นธรรม เมื่อ
เห็นธรรมจึงเห็นตถาคต [ ความบริสุทธิ์แห่งจิตพระพุทธองค์ผู้ทรงปราศจากกิเลศ ]


เมื่อใจเรามีปัญญาเกิดขึ้น เห็นความทุกข์ เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร จึงเกิด
ศรัทธาในการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อการ ตัดสังโยชน์ 10


ให้สิ้นเชื้ออาสวะทั้งปวงเกิดวิริยะเพียรพยายาม สร้างบารมี 30 ทัศน์ ให้เต็มบริบูรณ์ใจจึงตั้งมั่นว่า
ชีวิตเรานับแต่นี้มุ่งมั่นในการสร้างบารมีให้เต็มไม่ว่าจะเพื่อพระนิพพานก็ดีหรือเพื่อพุทธภูมิวิสัยก็ดี
นับแต่นั้นมาคลื่นความทุกข์ที่เคยถาโถมท่วมจิตท่วมใจก็กับกลายเป็นดั่งริ้วคลื่นที่ก้าวข้ามเอาทุกข์
และ อุปสรรคได้โดยง่ายไม่เกินกำลังเพราะใจไม่ไปติด ไม่ไปยึดไม่ไปรู้สึกว่าทุกข์


" มองเห็นทุกข์ เป็น อุปสรรค ของธรรมดาในการสร้างใน
การบำเพ็ญบารมี ให้สมบูรณ์ เห็นทุกสิ่ง เป็นธรรมดา เป็น นิจ
เป็นอนิจจังไปทุกสิ่ง ทุกคนทุกเหตุการณ์ ภายใต้กฎไตรลักษณ์
การออกจากทุกข์ได้ต้องใจสบาย ใจสะอาดใจบริสุทธิ์ "


ขอให้ทุกท่านผ่านทุกข์ เห็นธรรมเข้าถึงความเป็นธรรมดาได้ทุกท่านด้วยเทอญ.






Sawiiika
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #3 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:40:49 PM »

ธรรมไหลไปสู่ธรรม
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก





ธรรมไหลไปสู่ธรรม
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี


คำนำ

หนังสือ “ธรรมไหลไปสู่ธรรม” นี้ เป็นพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ที่ได้รวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือธรรมบรรยายขึ้นเป็นเล่มแรกในปี พ.ศ. 2534 หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดหนังสือธรรมบรรยายของพระอาจารย์เล่มต่อๆ มา

หนังสือ “ธรรมไหลไปสู่ธรรม” นี้ ได้รับคำขอเข้ามาอยู่เนืองๆ จากผู้สนใจใคร่ในธรรม จนนำมาสู่การจัดพิมพ์อีกหลายครั้งเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน

ขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์ที่กรุณาอนุญาตให้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ และขออนุโมทนากับทุกท่านที่มีส่วนในการจัดพิมพ์ ขอความเจริญงอกงามในธรรมจงบังเกิดแก่ทุกท่านเถิด


มูลนิธิมายา โคตมี

บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #4 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:43:25 PM »


ธรรมไหลไปสู่ธรรม
พระธรรมเทศนาในงานสัปดาห์วันวิสาขบูชา ณ ท้องสนามหลวง
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๓๔
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
เจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม อ.ไทรโยค (กม.๙๐) จ.กาญจนบุรี

..............................................................

ขอความเจริญในธรรม จงมีแด่ท่านสาธุชนผู้ใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ชีวิตของเราที่ได้ล่วงมาถึงวาระนี้
ขณะนี้เป็นเวลาที่สำคัญที่สุดและมีค่ามากที่สุด ในชีวิตของเรา
เราจึงควรที่จะดำรงอยู่ด้วยความไม่ประมาท ทั้งกาย วาจา ใจ ในปัจจุบันนี้เถิด
อดีตได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทำอะไรไปก็แก้ไขกลับคืนไม่ได้ ส่วนอนาคตก็ยังมาไม่ถึง
มีแต่ ปัจจุบันธรรม นี้เท่านั้นที่จะยังประโยชน์ให้สำเร็จได้

อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

สิ่งที่เราประสบอยู่ในปัจจุบันล้วนเกิดมาจากเหตุในอดีต
อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
ปัจจุบันจึงเป็นที่รวมของทั้งเหตุและผล
เมื่อศึกษาปัจจุบันจนเข้าใจแล้ว เราย่อมเข้าใจทั้งอดีต ทั้งอนาคต ไปพร้อมกันด้วย
ฉะนั้น คุณงามความดีทั้งหลายที่เราได้สร้างสมมาทั้งหมดนับเอนกชาติ
ขอจงได้มาประชุมรวมกันลงในปัจจุบันนี้ ขณะนี้และเดี๋ยวนี้

โดยเฉพาะวาระนี้เป็นสัปดาห์วิสาขบูชา
ชาวโลกหลายล้านคนได้พร้อมกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถือกันว่าวันวิสาขบูชานี้เป็นวันแห่งการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระองค์ท่าน
พวกเราควรพากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติธรรมเป็นพุทธบูชา โดยพร้อมเพรียงกัน

เมื่อหวนระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ให้เราน้อมเอาธรรมะของพระองค์เข้ามาสู่ใจของเรา
ไม่ต้องให้ความสำคัญกับชนชั้นวรรณะ
ให้พุทธภาวะ ภาวะแห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ได้บังเกิดขึ้น
ในดวงใจของเรา ในปัจจุบันนี้และเดี๋ยวนี้

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า
จิตดั้งเดิมของเรานั้นประภัสสร มีความบริสุทธิ์ ผ่องใสอยู่ก่อนแล้ว
แต่เมื่อเราปล่อยตัว ปล่อยใจไปตามความเคยชินของกิเลส
จิตของเราจึงเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่บริสุทธิ์ผ่องใส อย่างที่ควรจะเป็น
ปกติคนเราไม่ค่อยได้สังเกตความนึกคิดของตัวเอง
เราคิดอะไรก็ไม่ค่อยรู้ตัว ส่วนมากก็คิดไปตามความเคยชิน
ตามอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
เราไม่รู้ว่าการปล่อยความคิดให้แล่นไปตามกิเลสนี้
เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมา

เมื่อเราปล่อยความคิดให้แล่นไป ทางโน้น ทางนี้อยู่เรื่อยๆ
คิดผิด คิดชั่ว คิดบ่น คิดดูถูกดูหมิ่นใครต่อใคร
บางทีก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดี แต่ทำชั่วแล้วสนุกสนาน
บางทีก็คิดไปว่าทำชั่วต่างหากที่ได้ดี
สังคมเราทุกวันนี้จึงวิปลาส มองจริงเป็นเท็จ มองเท็จเป็นจริง
มองชั่วเป็นดี มองถูกเป็นผิด เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นมา
สารพัดอย่างจนถึงกับกล่าวกันว่า
“ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”

ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่รู้จักและไม่เข้าใจหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
ส่งผลให้ชีวิตของคนเราตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตายไป
แม้จะแสวงหาความสุขมากมายเพียงไร ก็ไม่ได้พบความสุขที่แท้จริงสักที
เราจึงต้องปฏิบัติให้รู้ความจริงด้วยตัวของเราเอง
ด้วยกาย วาจา ใจ ของเราทั้งหลายนั่นแหละ
ต้องอดทน อดกลั้น และต้องต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง

ในการปฏิบัตินั้น เราเริ่มต้นด้วยการรักษาศีล
ไม่ว่าจะเป็น ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗
อันนี้เป็นอุบายที่จะช่วยให้เกิดสติสัมปชัญญะขึ้นภายในใจ
ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น สามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าได้ต่อไป
เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวสืบเนื่องกันไปโดยไม่ขาดตอนแล้ว
เราจะเกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์
ที่สำคัญจะเกิดความรู้อย่างหนึ่งว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามหลักของเหตุและผล
เมื่อทำเหตุดี ผลย่อมดี
เมื่อทำเหตุไม่ดี ผลย่อมไม่ดี

ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกับที่พวกเราได้ยินได้ฟังจนคุ้นหูว่า
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นเอง
ที่เราตั้งข้อสงสัยต่อหลักของเหตุและผลที่ว่า
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้น
ก็เพราะเราไม่ได้ศึกษาจิตใจของตัวเองจนเกิดความรู้ ความเข้าใจ
อย่างแจ่มแจ้ง ให้เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นมาในจิตใจของเรา
หิริ คือ ความละอายแก่ใจเมื่อเกิดอารมณ์ยินดียินร้าย
โอตตัปปะ คือ ความกลัวเกรงในอารมณ์ยินดียินร้ายนั้น



(มีต่อ ๑)
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #5 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:44:52 PM »

ใจเป็นศีล ศีลรักษาใจ

เมื่อเราปฏิบัติธรรม คือ ศึกษาจิตใจของตัวเอง
จนกระทั่งเกิดหิริโอตตัปปะขึ้นในใจอย่างมั่นคงแล้ว
เรียกว่าปฏิบัติจนกระทั่ง ศีลเข้าถึงใจ หรือ มีใจเป็นศีล มีใจเป็นธรรม
ขณะที่ปฏิบัติใหม่ๆ เราได้พยายามรักษาศีล
แต่เดี๋ยวนี้ และต่อไปนี้ เมื่อใจเราเป็นศีล ศีลจะรักษาเรา

เพราะเมื่อศีลเข้าถึงใจ เราจะมีความรู้สึกตื่นตัว
มีความละอาย มีความเกรงกลัว
ในขณะเกิดอารมณ์ยินดียินร้าย สติสัมปชัญญะ กับ หิริโอตตัปปะ รวมกัน
ควบคุมตัวเราไว้ได้อย่างมั่นคง
เราไม่กล้าทำชั่วทำบาป และไม่กล้าประมาทอีกต่อไปแล้ว

ถึงขนาดนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติของเรา จะเสมอต้นเสมอปลายตลอดเวลา
แม้ว่าอยู่ในที่ลับหูลับตา หรืออยู่ในป่าในเขาตามลำพัง
เราก็ไม่ประมาทพลั้งเผลอที่จะทำชั่วทำบาปแล้ว
เพราะเรามีหิริโอตตัปปะ เรามีตนเป็นที่พึ่งของตน
“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

คำว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนี้ อาจจะพูดได้อีกอย่างว่า
ตนใหญ่ เป็นที่พึ่งของ ตนเล็ก
ตนใหญ่คืออะไร ตนเล็กคืออะไร อาจจะมีคนสงสัย

ตนใหญ่ คือ ตนที่แท้จริง ตนที่บริสุทธิ์
เป็นตนที่ สติสัมปชัญญะ กับ หิริโอตตัปปะรวมกันควบคุมจิต
ทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา
ตนนี้แล อตฺตา หิ เป็น ตนใหญ่

ส่วน ตนเล็ก คือ จิตที่เคยอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ถูกกิเลสเบียดเบียน
จนได้รับความทุกข์ใจความเสียใจ
อันนี้แหละเป็นตนเล็กที่อ่อนแอ ไม่มีกำลัง

เมื่อใดก็ตามที่กำลังจะเกิดความรู้สึกที่เป็นกิเลส
ตนใหญ่ ที่เป็นสติสัมปชัญญะก็จะรู้ตัวและเกิดความละอาย
ความเกรงกลัวต่อบาป
พูดง่ายๆ ว่า ตนใหญ่จะมาจัดการกับกิเลสเองโดยอัตโนมัติ

อย่างนี้เรียกว่า เราได้ที่พึ่งของตัวเอง มีใจเป็นศีล มีใจเป็นธรรม
ซึ่งจะคอยรักษาเราอยู่ตลอดเวลา

ไม่ดูถูกตัวเอง

คำว่า มนุษย์ มาจาก มน+อุษย แปลว่า ผู้มีใจสูง
ปกติเมื่อยู่ตามลำพัง เรามักจะประมาทและปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่าย
เช่นเราเห็นของดีๆ งามๆ แล้วเกิดความอยากได้
แม้จะรู้อยู่ว่ามีเจ้าของ แต่ก็ยังนึกอยากจะขโมยเอาให้ได้
มองหน้ามองหลัง มองซ้ายมองขวา พอเห็นว่าไม่มีใคร
ก็หยิบของใส่กระเป๋า รีบเดินหนีด้วยใจเต้นตึกตักๆ
อย่างนี้ก็จะเรียกว่าเป็นคนทำชั่ว

คนที่ทำชั่วทำบาปได้ คือคนที่ไม่เคารพตัวเอง ดูถูกดูหมิ่นตัวเองมากที่สุด
ไม่ให้เกียรติแม้กระทั่งตัวเอง ว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งในโลก
เมื่อเราทำความชั่ว เราจะคิดว่าไม่มีคนรู้คนเห็นได้อย่างไร
คนที่รู้อยู่เห็นอยู่ก็คือตัวของเราเอง
แล้วตัวของเราเองนี้เป็นใคร
ไม่ใช่คน ไม่ใช่มนุษย์หรอกหรือ ? เป็นยักษ์เป็นเปรตหรือ ?
คนที่รักชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง จะทำชั่วทำบาปไม่ได้
แม้จะอยู่บนเขา อยู่ในถ้ำเพียงคนเดียว ก็ยังต้องสำรวม
ระวัง กาย วาจา ใจ ของตนให้เป็นปกติเรียบร้อยอยู่เสมอ

เมื่อเราสามารถรักษาศีล จนกระทั่ง ใจเป็นศีล ใจเป็นธรรมแล้ว
จะเกิดความรู้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า อจล ญาณทัสสนะ
เป็นความหยั่งรู้ที่เป็นพยานแก่ตนเองได้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว
และเมื่อสามารถเอาตนเป็นพยานแห่งตนได้แล้ว
ก็ไม่ต้องเที่ยวหาคนอื่นนอกตัวมาเป็นพยาน
เราเองรู้ชัดอยู่กับตัวว่า ทำดี ทำถูก ทำไม่ผิดแล้ว
ใครจะว่าอย่างไร เราก็ไม่หวั่นไหว ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนใจ
ไม่ต้องคิดไปว่า ทำดีได้ชั่ว
เพราะทำดีเมื่อไรมันก็ได้ดีอยู่ที่ใจอย่างแน่นอน

ที่เขาตำหนิเรากล่าวหาเราว่า ทำไม่ดี ทำไม่ถูก หรือทำชั่ว
ก็อาจจะมีได้บ้างเหมือนกัน
อาจจะเป็นวิบากกรรมของเราเอง
หรือเพราะกิเลสเข้าครอบงำจิตใจของเขา
หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะ อวิชชา เป็นเครื่องปิดบังไม่ให้รู้ความจริง
เขาจึงเข้าใจเราผิด ก็เป็นได้

และถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก
พยายามทำใจของเราให้สะอาด สว่าง สงบ
ปล่อยให้กาลเวลาเป็นเครื่องแก้ไข
ในที่สุดเหตุการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเปลี่ยนแปลงกลับคืนสู่สภาพปกติของมันเอง
เมื่อใดที่ศีลของเราสมบูรณ์แล้ว กาย วาจา และจิตของเราก็เข้าสู่ทางสายกลาง
มุ่งตรงต่อสมาธิ ปัญญา วิมุตติ และ วิมุตติญาณทัศนะ


(มีต่อ ๒)
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #6 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:46:29 PM »

ธรรมไหลไปสู่ธรรม

มีอยู่วาระหนึ่งที่พระพุทธได้ทรงแสดงถึงอาการที่เรียกว่า
“ธรรมไหลไปสู่ธรรม โดยไม่ต้องตั้งเจตนา”
เรามีหน้าที่เพียงแต่ ดูแลเอาใจใส่และรักษาธรรมให้ดีเท่านั้น
อันเป็นมูลเหตุเบื้องต้น
เพราะเมื่อเหตุดีแล้ว ก็จะผลิตดอกออกผลมาเอง
ส่วนจะเร็วหรือช้านั้น ก็เป็นเรื่องของสภาวะธรรมตามธรรมชาติ
ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับเราปลูกมะม่วงสักต้นหนึ่ง
หน้าที่ของเราคือ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน กำจัดแมลง
ทำอยู่อย่างนั้นนานนับเดือน นับปี
ต้นไม้ก็เจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ

แล้วในที่สุด ไม่วันใดก็วันหนึ่ง มันจะต้องผลิดอกออกผลขึ้นมา
ปีแรกๆ อาจจะมีผลิตผลไม่มาก
แต่ปีต่อๆ มาก็จะผลิดอกออกผลมากขึ้นเอง
หน้าที่ของเราจึงมีแต่เพียงศึกษาให้รู้ถึงวิธีการบำรุงรักษา และ
ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้นั้นให้ดีที่สุดเท่านั้น
เมื่อเราทำเหตุให้ดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องห่วงว่าผลจะออกมาอย่างไร

ฉะนั้น ในการปฏิบัติธรรมเราจึงต้องรักษาจิตให้เป็นศีล
มีความพากเพียรในการเจริญสติ และมีสัมปชัญญะ ให้สืบเนื่อง
ติดต่อกันไปอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดตอน
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงย่อมจะไหลไปสู่ธรรมตามลำดับ
ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงเบื้องปลาย
คือความหลุดพ้นจากทุกข์เป็นที่สุด

กล่าวคือ

(๑) เมื่อศีลสมบูรณ์ ไม่มีโทษทางกายวาจาใจ
ไม่มีการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นแล้ว ก็ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“อวิปปฏิสาร ความไม่เดือดร้อนใจ จงบังเกิดขึ้นแก่เรา” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อศีลสมบูรณ์แล้ว ความไม่เดือดร้อนใจย่อมเกิดขึ้นเอง

(๒) เมื่อไม่มีความเดือดร้อนใจแล้วไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“ปราโมทย์ ความปลื้มใจ จงบังเกิดแก่เรา” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อไม่มีความเดือดร้อนใจแล้ว ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้นเอง

(๓) เมื่อปราโมทย์ คือ ความปลื้มใจเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า “ปีติ ความอิ่มใจ จงบังเกิดแก่เรา” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อความปราโมทย์เกิดขึ้นแล้ว ปีติย่อมเกิดขึ้นเอง

(๔) เมื่อปีติความอิ่มใจเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“กายของเราจงระงับเป็นปัสสัทธิ” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อปีติเกิดขึ้นแล้ว กายย่อมระงับเอง

(๕) เมื่อกายระงับเป็นปัสสัทธิแล้ว ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“เราจงเสวยสุข” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อกายระงับเป็นปัสสัทธิแล้ว ย่อมเสวยสุขเอง

(๖) เมื่อมีความสุขแล้วไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“จิตของเรา จงตั้งมั่นเป็นสมาธิ” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อมีความสุขแล้ว จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเอง

(๗) เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“เราจงรู้เห็นตามความเป็นจริง” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ยถาภูตญาณทัสสนะ
คือความรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเกิดขึ้นเอง

(๘) เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นตามความเป็นจริงเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า “เราจงเบื่อหน่ายเป็นนิพพิทา” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมเบื่อหน่ายเอง

(๙) เมื่อเบื่อหน่ายเป็นนิพพิทาแล้ว ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“เราจงคลายกำหนัดเป็นวิราคะ” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อมีความเบื่อหน่ายแล้ว วิราคะ คือ ความคลายกำหนัด ย่อมเกิดขึ้นเอง

(๑๐) เมื่อคลายกำหนัดเป็นวิราคะแล้ว ไม่ต้องทำ “เจตนา” ว่า
“เราจงทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นว่าจิตหลุดพ้น
จากอาสวะทั้งหลายแล้ว” ข้อนี้เป็นธรรมดาว่า
เมื่อวิราคะเกิดขึ้นแล้ว วิมุตติญาณทัสสนะย่อมเกิดขึ้นเอง

ด้วยอาการอย่างนี้ เรียกว่า “ธรรมไหลไปสู่ธรรม”
ธรรมย่อมยังธรรมให้เต็ม
เปรียบประดุจกระแสน้ำที่ไหลไปตามลำคลองลงสู่ห้วงมหาสมุทร
น้ำย่อมยังห้วงน้ำให้เต็มได้ฉันใด
ธรรมย่อมยังธรรมให้เต็มได้ฉันนั้น

ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรม จึงควรใช้วิจารณญาณ สังเกตให้เห็นว่า
เราเพียงตั้ง “เจตนา” ในการกระทำให้ถูกต้อง
เป็นสัมมาปฏิบัติก็พอแล้ว

เราไม่ต้องตั้ง “เจตนา” ที่จะคาดหวังให้การกระทำนั้นออกผล
เพราะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แถมยังจะทำให้เกิดความกระวนกระวาย
หรือเป็นทุกข์ขึ้นมาอีกด้วย
คนโดยมากมักจะเข้าใจผิดในข้อนี้
นี่แสดงให้เห็นว่า เมื่อรักษาจิต ดำรงจิต และตั้งเจตนาให้ถูกต้อง
ในการกระทำ โดยรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว
สมาธิ ปัญญา ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงก็จะเกิดขึ้นเอง
โดยไม่ต้องตั้งเจตนาที่จะให้เกิด

อริยมรรค ๘ โพชฌงค์ ๗ สติปัฏฐาน ๔ และแม้แต่โอวาทปาฏิโมกข์
ก็อยู่ในที่นั้นครบทั้งหมด กล่าวคือ
เมื่อศีลสมบูรณ์แล้ว “การไม่ทำบาปทั้งปวง” ก็จะสมบูรณ์

เมื่อใจเกิดปีติ ปัสสัทธิ สุข และสมาธิแล้ว
ไม่ว่าจะทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นกุศลไปทั้งหมด
“การทำกุศลให้ถึงพร้อม” ก็จะสมบูรณ์เอง
โดยไม่ต้องตั้งใจทำอะไรเป็นพิเศษ

เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง
คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างชัดเจน
เกิดความจางคลายไปแห่งตัณหาและราคะ
เป็นการ “ชำระจิตให้ผ่องแผ้ว”
จนกระทั่งเกิดความรู้เห็นว่า จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง
คือ วิมุตติญาณทัสสนะ ในที่สุด


(มีต่อ ๓)
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #7 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:47:53 PM »

อดกลั้นต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสบอกพราหมณ์คนหนึ่งว่า
“พระนิพพานเป็นธรรมอันยิ่ง”
แต่สำหรับพวกเรา ขันติคือธรรมอันยิ่ง
ขนฺติ ปรมํ ตฺโป ตี ติกฺขา
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
นั่นคือ ความอดทนพากเพียรในการปฏิบัติ
และความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบ
โดยสำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็น อายตนะภายใน
ส่วน รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นอายตนะภายนอก
ทั้งสองอย่างนี้เป็นบ่อเกิดของอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง
คือ เมื่อกระทบกันเข้า ก็เกิดความรับรู้

ตาเห็นรูป เกิด จักษุวิญญาณ
หูได้ยินเสียง เกิด โสตวิญญาณ
จมูกได้กลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ
ลิ้นรับรู้รส เกิด ชิวหาวิญญาณ
กายรับรู้สัมผัส เกิด กายวิญญาณ
ใจรับรู้ธรรมารมณ์ เกิด มโนวิญญาณ

เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายรับรู้สัมผัส
เกิดผัสสะ เป็นขั้นตอนที่ ๑
ถ้าสติปัญญากำหนดรู้เท่าทัน ก็เป็น
สักแต่ว่าเห็น
สักแต่ว่าได้ยิน
สักแต่ว่ากลิ่น
สักแต่ว่ารส
สักแต่ว่าสัมผัส
ไม่เกิดเวทนา

แต่ถ้าขณะนั้นเกิดเผลอสติ ก็จะกลายเป็นอธิวจนสัมผัส
คือสัมผัสลึกซึ้งจนเกิดเป็นเวทนา ความรู้สึกชอบไม่ชอบ
ด้วยอำนาจจิตที่ปรุงแต่งไป เป็นขั้นตอนที่สอง

ตรงนี้แหละให้ระวังตัว
ถ้าเป็นไฟจราจรก็เป็นไฟเหลือง
เป็นสัญญาณเตือนภัยให้ระวังตัวให้มาก
ถ้าสามารถกำหนดรู้เท่าทันเวทนาได้ ก็ยังไม่เป็นทุกข์
แต่ถ้าเวทนาแรงกล้า จิตก็จะปรุงแต่งให้เกิดความทะยานอยาก
เป็นตัณหาขึ้น เป็นขั้นตอนที่สาม

เมื่อเกิดตัณหาแล้วท่านเรียกว่า สมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ถ้าเป็นไฟจราจรก็เป็นไฟแดงแล้ว
ต้องหยุดที่ตรงนี้
ถ้าหยุดได้ก็ยังไม่เกิดทุกข์
แต่ถ้าหยุดไม่ได้ก็จะเกิดเป็นอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นเอาจริงเอาจัง
ในความอยากนั้น เป็นขั้นตอนที่สี่

ลำพังความอยากเฉยๆ ยังไม่เป็นทุกข์
ถ้าจิตเชื่อฟังเหตุผล ยอมปล่อยวางความอยากลงได้ก็แล้วไป
แต่ถ้าเกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็เกิดอัตตาตัวตน
ซึ่งเป็นตัวทุกข์ขึ้นมา หลังจากนั้นก็จะเกิดเป็นภพ
คือ ความมี ความเป็น ในขั้นตอนที่ห้า

ความนึกคิดนี้เป็นภพ
เมื่อนึกคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว มีเรามีเขา ก็เกิดเป็นชาติ
เป็นอารมณ์ในใจ มีความพอใจไม่พอใจ
ถ้าอารมณ์ภายในใจนี้ มีกำลังรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมไว้ได้
ก็จะแสดงออกมาทางกาย วาจา
เป็นการกระทำที่ออกจากศีล หรือ ผิดศีล
จากนั้น ชรา มรณะ โศกะ ปริเทวะ ความร่ำไร รำพัน ความทุกข์ โทมนัสก็เกิดตามมา
เป็นขั้นตอนที่หก เจ็ด แปด... เก้า... สิบ... ยี่สิบ... สามสิบ ยืดยาวต่อไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นเมื่อได้เห็นหรือได้ยินอะไรก็ตาม
ให้มีสติ น้อมเข้ามาสู่ใจของเรา
เพื่อที่จะเข้าไปดูอย่างลึกซึ้งในขณะที่รับอารมณ์นั้น


(มีต่อ ๔)
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #8 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:49:02 PM »

รู้อะไร ก็สักแต่ว่ารู้

เมื่อดูเข้าไป ดูเข้าไป โดยอาศัยกำลังของสติและจิตอันหนักแน่นแล้ว
เราจะเห็นอารมณ์ และถ้าเห็นจริงๆ แล้ว ก็จะรู้ชัด
เป็นความรู้ที่มีกำลัง มีอำนาจ ในการต่อสู้กับกิเลสตัณหา
เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการขบคิดพินิจพิจารณา
ตามเหตุผลในระดับสมอง หรือปัญญาที่เกิดขึ้นจากการได้ยิน ได้ฟัง
เกิดความทรงจำ คิดได้พูดได้
ที่เรียกว่า จินตามยปัญญา และ สุตตมยปัญญา

แต่ภาวนามยปัญญานั้น อาศัยสติ และสมาธิที่หนักแน่น
เข้าไปดูลึกๆ ภายในจิตจนเห็นอารมณ์ของตนเองอย่างชัดเจน
ฉะนั้นการปฏิบัติธรรม คือการพยายามรักษาจิตตั้งเจตนาให้ถูกต้อง
เพื่อทวนกระแสแห่งอารมณ์
พยายามรักษาอารมณ์ให้รู้อยู่แต่อารมณ์ที่ ๑ คือผัสสะ
เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน รู้ก็สักแต่ว่ารู้
แต่ถ้าหลุดไปเป็นอารมณ์ที่ ๒ คือเวทนา ก็อย่ายึดมั่นถือมั่น
ชอบไม่ชอบอย่ายึดมั่นถือมั่น เช่นนี้ไปเรื่อยๆ

อีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเกิดกระทบอารมณ์
ก็พยายามให้ความรุนแรงของอารมณ์ลดลงๆ
เช่น แต่ก่อนเมื่อกระทบอารมณ์ได้ยินเสียงนินทาปุ๊บ จิตก็แล่นไปถึง
อารมณ์ที่ ๔ - ๕ - ๖ เลย คือเกิดเป็นอุปาทาน ภพ ชาติ ฯ
ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ เกิดทุกข์เดือดร้อนเป็นเดือนเป็นปีก็มี
การปฏิบัติคือการพยายามลดอารมณ์รุนแรงนี้ให้หยุดอยู่
แค่อารมณ์ที่ ๓, ๒, ๑ ตามลำดับ

เคยทะเลาะกับภรรยาแล้วอารมณ์ไม่ดีอยู่ ๕ - ๖ วัน
ก็ให้ลดลงเหลือ แค่ ๑ วัน และต่อไปก็ไม่ต้องทะเลาะเลย เป็นต้น
นี่คือการพยายามลดความรุนแรงของอารมณ์จากขั้นที่ ๖ - ๕ - ๔
เป็น ๓ - ๒ - ๑ เป็นลำดับ และ เป็นการทวนกระแสแห่งอารมณ์

เราต้องระมัดระวังและกลัวความรู้สึกนึกคิด
ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา
เพราะเป็นมูลเหตุ ของบาปอกุศล และความทุกข์ทั้งปวง
เมื่อจิตนึกไป คิดไป ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ตามอำนาจของกิเลสตัณหาแล้ว
ก็จะแสดงออกมาเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ในที่สุด

ดังนั้น สิ่งที่น่ากลัวที่สุด เป็นอันตรายร้ายกาจที่สุด
และเป็นศัตรูผู้จองผลาญก็อยู่ตรงนี้ ตรงที่ ความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเอง
เราจึงต้องไม่ประมาท
เหมือนดังที่ศาสดาได้ทรงย้ำให้พวกเรารู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ
เสมือนว่า กำลังอยู่ในห้องที่มีอสรพิษ คอยจ้องอยู่ตลอดเวลา


(มีต่อ ๕)
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #9 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:50:07 PM »

ทุกข์ หรือ สุข มีค่าเท่ากัน

โลกธรรม ๘ ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลก และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น คือ
มีลาภ เสื่อมลาภ
มียศ เสื่อมยศ
มีสรรเสริญ มีนินทา
มีสุข มีทุกข์

ทั้งนี้ หลวงพ่อชาเคยให้โอวาทเปรียบเทียบไว้ว่า
ผู้ใดยึดในทุกข์ ก็ประดุจโดนงูเห่ากัด
ผู้ใดยึดในสุข ก็เสมือนจับงูเห่าข้างหาง
และจะโดนมันแว้งกัดเอาในภายหลัง

ดังนั้นความสุขกับความทุกข์ อารมณ์ชอบใจกับไม่ชอบใจนั้น จึงมีค่าเท่ากัน
ถ้าหลงยึดเข้าแล้วก็ให้โทษแก่เราเหมือนๆ กัน
เมื่อเราคุ้มครองจิตโดยอาศัย สติดี สัมปชัญญะดี ความพากเพียรถูกต้อง
พรั่งพร้อมด้วยความเกรงกลัว ความละอายต่อบาป
และความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ที่รุนแรงแล้ว
เราย่อมจะเป็นผู้อยู่เหนืออารมณ์ ด้วยจิตที่รู้ ตื่น และเบิกบาน

รู้ว่า โลกธรรม ๘ เกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป
โดยที่ใจของเราไม่เกิดความหวั่นไหวคล้อยตามไปด้วย
เปรียบเหมือนเราอยู่ในบ้านที่ปลอดภัย และอบอุ่น
ไม่ว่าโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร ฝนจะตกหรือแดดจะออก
อากาศจะร้อนหรือหนาว บรรยากาศจะสงบนิ่งหรือมีพายุพัด
เราเพียงแต่มองดูความเป็นไปจากทางหน้าต่างเท่านั้น

โลกธรรมที่เกิดขึ้นกับเราก็เหมือนธรรมชาติ เหมือนลมฟ้าอากาศ
เป็นสิ่งไม่อยู่ในอำนาจการควบคุมของเรา
เราทำได้แต่เพียงพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง
แล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้น

แต่บางครั้งบ้านของเราก็เกือบจะพังเหมือนกัน
เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ได้รับทุกข์
บางครั้งเราก็ถูกกระทบจากสิ่งเหล่านี้อย่างรุนแรง
แต่เราก็ต้องอดทน และให้เวลาเป็นเครื่องแก้
แม้จะเกิดความฟุ้งซ่านวุ่นวาย ความเดือดร้อนใจเพียงใดก็ตาม
ให้ตั้งสติ พิจารณาทบทวนความคิดของตัวเองให้ถูกต้อง

คิดให้เป็น คิดให้ดี คิดให้ถูก

เมื่อคิดถูกต้อง สอดคล้องกับหลักธรรมแล้ว จิตใจของเราจะค่อยๆ เย็นลงเอง
ข้อสำคัญมันจึงอยู่ที่ความคิด ถ้าคิดผิด เกิดความทุกข์ทันที
แต่ถ้าคิดดี คิดถูก ก็ให้ความสุขแก่ตนเองได้
อย่างนี้เรียกว่า ใจเป็นศีล
คือ ตั้งเจตนาให้ถูกต้องต่อความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง

เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนส่วนใหญ่
แม้จะมีศรัทธามาก เคยฟังเทศน์ฟังธรรมบ่อยครั้ง
หรือศึกษาปฏิบัติธรรมมานานมากแล้ว ก็ยังอาจจะจับหลักไม่ได้
เพราะธรรมะยังไม่เข้าถึงใจ นั่นเอง

เมื่อใดก็ตามที่ประสบกับความทุกข์ เราต้องนึกถึงพุทธภาษิต
ที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่ว่า
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ ธรรมเหล่านั้นย่อมดับไปด้วยเหตุ”


(มีต่อ ๖)

บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #10 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:55:43 PM »

วัดถ้ำแสงเพชร อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ


เหตุอยู่ที่ใจของเรา

ศาสดาทรงสอนการเกิดและการดับของธรรมทั้งหลายทั้งปวง
โดยสรุปรวมอยู่ในหลักอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ความทุกข์ความไม่สบายใจอยู่ที่ไหน
อยู่ในใจของเรานี้เองใช่ไหม
ทุกข์อยู่ที่ไหน เหตุก็อยู่ที่นั่น
เมื่อทุกข์เกิดแต่เหตุ ท่านจึงสอนให้ละเหตุอันนั้น
ฟังให้ดีๆ นะ ท่านให้ละสมุทัย ละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
แต่บางคนเข้าใจผิด ไปโทษปัจจัย
ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว เหตุกับปัจจัยไม่ใช่อย่างเดียวกัน

เช่น ถ้าใครนินทา เราเกิดความรู้สึกน้อยใจ ไม่สบายใจ เป็นทุกข์
ตามธรรมดาเราก็มักจะคิดไปว่า ทำไมเขาพูดอย่างนั้น
เราได้ช่วยเหลือ ทำดีกับเขาอย่างโน้นอย่างนี้แล้ว
เขาไม่น่าจะพูดถึงเราอย่างนั้นเลย
จากนั้นเราก็คิดไปเรื่อยๆ คิดแล้วก็ยิ่งไม่สบายใจ
คิดแล้วก็ยิ่งเกิดความรู้สึกน้อยใจ คิดแล้วก็ยิ่งเกิดความทุกข์
ในที่สุดก็เกิดความอาฆาตพยาบาท
อย่างนี้เรียกว่า คิดผิด

ท่านสอนว่า ให้แก้ที่เหตุ คือแก้ที่กิเลสตัณหา อุปาทานของตัวเอง
สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วไม่ถูกใจเรานั้น เป็นเพียงปัจจัยภายนอก
ไม่ใช่สิ่งที่เราจะห้ามได้ เราแก้ไขสิ่งที่อยู่ภายนอกไม่ได้
แม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงแก้ไขไม่ได้ พระองค์ให้ทรงแก้ที่เหตุ
และเหตุก็อยู่ที่ใจของเรานี่เอง

เราอาจจะเปรียบได้ กับการเพาะปลูกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง
เมล็ดพันธุ์นี้เป็นเหตุ เมื่อปัจจัย คือ น้ำ แสงสว่าง และอุณหภูมิ
พรั่งพร้อมพอเหมาะ เมล็ดก็จะงอก
และแตกหน่อออกมาเป็นต้นไม้
กล่าวคือ เมื่อเหตุดีและปัจจัยพร้อมพอดี
ก็จะเกิดดอกออกผลขึ้นในที่สุด

ถ้าเราไม่ต้องการดอก ผล หรือต้นไม้ ก็ทำลายเมล็ดพันธุ์
หรือต้นไม้นั้นเสีย ก็จบเรื่อง คือ ทำลายเหตุ ผลก็ไม่เกิด
ไม่ใช่ว่าพยายามไปแก้ที่ปัจจัย ที่ธรรมชาติ เช่นไม่ให้มีฝนตก
ไม่ให้มีแสงสว่าง ไม่ให้มีอุณหภูมิพอเหมาะ หรืออื่นๆ
ถ้าทำอย่างนั้น เราจะเหนื่อยเปล่าๆ

เมื่อเราได้เห็นได้ยินอะไรแล้ว ให้น้อมเข้ามาสู่ใจของเรา
เพื่อพิจารณาดูที่เหตุ ตรงที่รับอารมณ์ ตรงที่มีความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบใจ
แล้วกำหนดรู้ ให้เป็นสักแต่ว่าความรู้สึก
เพียงเท่านี้ทุกอย่างก็จบ
ไม่เกิดเป็นปัญหา ไม่เกิดทุกข์
พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องนึกคิดปรุงแต่งนั่นเอง

ความรู้สึกนั้นเป็นของที่ไม่แน่นอน ไม่เที่ยงแท้
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เราควรระมัดระวังจิตที่นึกคิดทะยานอยาก
จนเป็นตัณหาขึ้นมานี้ให้ดี
ถ้าเราควบคุมจิตได้ ตัณหาก็จะไม่เกิด
ตัณหาเกิดจากเหตุภายในของตัวเอง
เมื่อเกิดอารมณ์ ก็ให้รีบกำหนดรู้
เป็นสักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้เห็น เป็นอารมณ์ที่หนึ่ง

ถ้าไม่สามารถหยุดอยู่ในอารมณ์ขั้นนี้ได้
จิตก็จะปรุงแต่งไปเป็นอารมณ์ที่สอง คือ
เกิดความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบใจ เป็นเวทนาขึ้นมา
และถ้าไกลออกไปจากนี้อีกก็จะเป็นอารมณ์ที่สาม
เกิดเป็นความนึกคิดทะยานอยาก

เพื่อจะไม่ให้เกินอารมณ์ที่สามออกไปอีก
คือ แม้จะนึกคิดทะยานอยากไปอย่างโน้นอย่างนี้ ก็หยุดเอาไว้เสีย
ไม่ยึดถือเป็นจริงเป็นจัง จนกระทั่งเป็นอุปาทานขึ้นมา
อย่างนี้ก็จะยังไม่เกิดทุกข์
เรียกได้ว่ามีใจเป็นศีล ใจเป็นธรรม มีจิตใจที่เข้าถึงอริยสัจ
มีความตั้งใจดี ตั้งใจถูก หรือว่าคิดถูกนั่นเอง

คำว่า “คิดถูก” นี้ ฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย
แต่เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง เกิดอารมณ์ครอบงำจิตใจของตัวเองแล้ว
ก็เป็นเรื่องยากที่จะคิดให้ถูกได้
เราจึงต้องปฏิบัติจนเกิดปัญญา เห็นโทษของกิเลสในตัวเองนั่นแหละ
จึงจะคิดถูกได้อย่างแท้จริง

สำหรับอาตมานั้น ปัจจุบันบวชมาได้ ๑๖ พรรษาแล้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔) ในพรรษาที่ ๔ นั้น หลวงพ่อชายังแข็งแรงดีอยู่ ท่านส่งอาตมาไปจำพรรษาที่วัดถ้ำแสงเพชร อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ในปัจจุบัน) ช่วงนั้นถือว่ายังบวชใหม่ๆ ศรัทธาก็เต็มที่ สนใจการปฏิบัติทุกรูปแบบ เช่น อดอาหาร ฉันแต่น้ำฝนอย่างเดียวเป็นเวลา ๓๐ วัน เพื่อปรารภความเพียร เป็นต้น การปฏิบัติอย่างนี้ก็ได้ประสบการณ์แปลกๆ หลายอย่างเหมือนกัน แต่ที่มีประโยชน์มากที่สุด คือ ได้เห็นอารมณ์เรื่องอาหารอย่างชัดเจน

ตามธรรมดาเมื่อเราเกิดอารมณ์ หรือเกิดตัณหาทะยานอยาก ก็มักจะเกิดความคิดเป็นมโนภาพขึ้นในจิตใจ โดยถือว่าเป็นความสุขของเรา เช่น เมื่อหิวข้าว ก็คิดไปตามตัณหา โดยคิดเรื่องอาหาร อย่างไหนอร่อย ร้านไหนทำอร่อย เป็นต้น ถ้ามีเพื่อน ก็พูดคุยกันถึงเรื่องเหล่านี้อย่างมีความสุข

เมื่อเราคิดเรื่องอาหาร ร่างกายของเราก็ผลิตน้ำย่อยออกมา ทำให้แสบท้อง เกิดความทุกข์ทางกายและทางใจเพิ่มขึ้นมาอีก แต่เมื่อไม่คิดก็ไม่เป็นอะไร

นี้เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความคิดนี้มีโทษ ความคิดนี้เป็นสมุทัยคือ เหตุให้เกิดทุกข์ ทั้งทางกายและทางใจโดยแท้

เมื่อใดที่ยังไม่คิดก็ไม่เป็นไร ต่อเมื่อคิดเท่านั้น ถึงจะเป็นทุกข์ จึงทำให้รู้ว่า การคิดตามตัณหานี่เอง ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เลยกลัวความคิดของตัวเอง พอกลัวมากๆ ก็ส่งผลให้สติว่องไว และปัญญาคมกล้าขึ้น จนกระทั่งตัดได้เลย คือนึกเมื่อไรก็ตัดได้เมื่อนั้น มีลักษณะรู้เท่าทันอารมณ์ในช่วงนั้น แต่ก็เฉพาะเรื่องอาหาร เรื่องอย่างอื่นยังเฉื่อยชาอยู่ เพราะจิตยังไม่เห็นโทษของกิเลส

การรู้จักสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองนี้ จึงสำคัญมาก
ทำให้เกิดปัญญา เป็นการพิจารณาใคร่ครวญธรรมะขึ้นมา
และถ้ามีความพากเพียรในการเจริญสติ สัมปชัญญะ
ก็จะเกิดกำลังในการรู้เท่าทันอารมณ์ขึ้นมาเอง

เมื่อกำลังโกรธ เรารู้อยู่ว่าไม่น่าจะโกรธ
แต่บางทีสอนใจตัวเองอย่างไร ก็ไม่หายโกรธ
เหตุที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะรู้อยู่ แต่ยังรู้ไม่ทัน รู้ไม่เท่าความจริง



รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อชา สุภัทโท ณ วัดถ้ำแสงเพชร

(มีต่อ ๗)


บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #11 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:57:02 PM »

รู้เท่า-ทันอารมณ์

การดูอารมณ์นี้ เราจะต้องดูให้รู้เท่าทันอารมณ์ด้วย
ที่ว่า รู้เท่าทัน นี้ มีความหมายลึกซึ้ง คือ
รู้ทันอารมณ์เท่านั้นยังไม่พอ
ต้อง รู้ทัน แล้วก็ รู้เท่า อารมณ์ด้วย

รู้เท่า เป็นเรื่องของปัญญา
รู้เท่าตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้มีโทษ เป็นของไม่แน่นอน
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
หรือ เอาจริงเอาจังจนเกิดเป็นตัณหาอุปาทานขึ้นมา

ปัญญานี้เปรียบประดุจดาบ
สามารถตัดทำลายต้นตอของปัญหาได้
เหมือนกับว่า มีขโมยเข้ามาในบ้านของเรา เรารู้ทันแล้ว
แต่บางทีก็ยังจับตัวไม่ได้ เพราะเขามีกำลังมีอาวุธมากกว่า

เราจึงต้องมีอาวุธที่เหนือกว่าเขา จึงจะจับเขาได้
อารมณ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีสติรู้ทัน มีปัญญารู้เท่า
ก็จัดการได้ถูกวิธีโดยไม่มีปัญหา
การเผชิญหน้ากับอารมณ์นั้น สติกับปัญญา
ต้องทำงานร่วมกัน จึงจะเกิดผล

โดยสรุปแล้ว ในการปฏิบัติธรรมนั้น
ไม่ว่าจะเกิดอารมณ์ที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจก็ตาม
ให้เรากำหนดรู้อารมณ์นั้น โดยมีสติรู้ทัน มีปัญญารู้เท่า
ว่าสิ่งเหล่านี้มีโทษ ยึดถือเข้าไปแล้วเป็นอันตราย
เป็นทุกข์ในภายหลัง
เมื่อจิตรู้อย่างนี้แล้ว
จิตก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นไปเอง

ตรงตามพุทธประสงค์ว่า
“เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺ สนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา”
ผู้ใดรู้จักควบคุมจิตของตน ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร

ด้วยการปฏิบัติดังนี้เอง ที่จะเป็นการสร้างเหตุชักนำตัวเรา
ให้ไหลไปสู่กระแสธารแห่งธรรมะ
มีสภาวะจิตที่อยู่เหนืออารมณ์
สามารถอยู่ในโลกได้อย่างชนิดที่ไม่โดนเขี้ยวของโลกขบกัด
และประสบความสงบสุขในชีวิตอย่างยั่งยืนยาวนาน



................... เอวัง ...................

บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #12 เมื่อ: มิถุนายน 16, 2013, 08:47:11 PM »


ชนะใคร ไม่เท่าชนะใจตน ตอนที่ 1. การชนะที่ประเสริฐที่สุด

1. การชนะที่ประเสริฐที่สุด


เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ในพรรษานั้นมีพระสงค์สาวกผู้สำเร็จพระอรหันต์ จำนวน 60 รูป เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว
ศาสดาได้ส่งพระสาวกทั้ง 60 รูป ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังถิ่นต่างๆ
ส่วนพระองค์เองเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ในระหว่างทางเสด็จเข้าไปประทับพักผ่อนภายใต้ร่มไม้ริมทางในไร่ฝ้าย
ขณะนั้นมีเด็กหนุ่ม 30 คน
ผู้ได้นามว่า "ภัททวัคคีย์" ซึ่งแปลว่าพวกเจริญ นำภรรยาของตนมาพักผ่อนที่ไร่ฝ้าย ในจำนวน 30 คน
คนหนึ่งไม่มีภรรยา พวกเพื่อน ๆ จึงนำหญิงแพศยาคนหนึ่งมาให้เป็นเพื่อน เมื่อทุกคนสนุกสนาน
ไม่ได้เอาใจใส่ระวังของมีค่าหญิงแพศยาจึงลักเอาห่อเครื่องประดับแล้วหนีไป
คนเหล่านั้นชวนกันติดตามมาพบพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใต้ร่มไม้ต้นหนึ่งในไร่ฝ้ายนั้น จึงทูลถามว่า
"สมณะ ท่านนั่งอยู่ที่นี่ ได้เห็นหญิงคนใดคนหนึ่งผ่านมาทางนี้บ้างหรือไม่ ? "
"พวกเธอมีธุระอะไรกับหญิงนั้นหรือ ?"
เขาได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
"พวกเธอจะแสวงหาตนดี หรือแสวงหาหญิงดีกว่า?"
เด็กหนุ่มพวกนั้นและภรรยาสงสัยในพระพุทธดำรัส ไม่อาจเข้าใจความหมายได้ จึงทูลถามอีกว่า
"ท่านสมณะ พวกข้าพเจ้าไม่อาจเข้าใจคำพูดของท่านได้ เรื่องแสวงหาหญิงนั้น พวกเราพอรู้เพราะแสวงหาอยู่
แต่การแสวงหาตนนั้น พวกเราไม่อาจเข้าใจได้และไม่ทราบว่าจะแสวงหาทำไม
เพราะเราทุกคนมีตนของตนอยู่แล้วโดยไม่ต้องแสวงหา"
"ฟังก่อน ท่านทั้งหลายรู้จักตัวท่านเองดีแล้วหรือ ?"
"ข้าพเจ้าเข้าใจว่ารู้จักดี พวกข้าพเจ้ามิเพียงรู้จักตัวเองเท่านั้น ยังมีญาติ พี่น้องพ่อแม่ และมิตรสหายอีกมากที่ข้าพเจ้ารู้จัก"
"ถ้าอย่างนั้นเราขอถามท่านสักข้อหนึ่ง ท่านเห็นอย่างไรจงตอบอย่างนั้น"
"ได้ ท่านผู้เจริญ"
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า
"ท่านเห็นว่า การชนะอะไร เป็นการชนะที่ประเสริฐที่สุด?"

เด็กหนุ่มทั้ง 30 คนและภรรยา เมื่อถูกถามปัญหานี้ก็นิ่งไปครู่หนึ่ง ต่างมองหน้ากันงง ๆ
แล้วตอบตามที่ตนนึกได้ บางคนตอบว่าชนะศัตรูประเสริฐที่สุด แต่ถูกบางคนแย้งคำตอบนั่นเสีย
บางคนที่แพ้ภรรยาได้เป็นประเสริฐที่สุด แต่ถูกภรรยาแย้งเสียอีก
บางคนที่ชอบเล่นการพนันก็บอกว่าชนะการพนันดีที่สุด แต่ถูกเพื่อนบางคนแย้งว่า
การพนันเมื่อชนะแล้วก็อาจกลับแพ้ได้อีก เด็กหนุ่มทั้ง 30 คน ต่างตอบไปคนละอย่าง ไม่เป็นอันยุติลงได้
เถียงกันเสียงดังต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พักหนึ่งผ่านไป พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
"หยุดก่อน ค่อยๆ พูดทีละคน" แต่ไม่มีใครพูด เขากลับย้อนถามพระพุทธองค์ว่า
"แล้วตามความเห็นของท่าน ท่านเห็นว่าชนะอะไรประเสริฐที่สุด"
"ชนะตนเองสิ" พระองค์ตรัสตอบ
"ชนะตนเอง !! " พวกเขาอุทาน
"ชนะอย่างไรนะสมณะ ชนะตนเองน่ะ ? "
"พวกท่านรู้สึกว่า พวกท่านมีความอยาก ความปรารถนาในอารมณ์ต่าง ๆ เป็นต้นว่า
อยากได้รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย เป็นต้นหรือไม่?"
"เวลาท่านปรารถนามาก จิตใจของท่านคิดถึงสิ่งนั้นมากหรือคิดถึงตัวท่านเองมาก?"
"คิดถึงสิ่งนั้นมากกว่า" เขาตอบ
"เวลานั้น ท่านลืมตัวของท่านไปชั่วคราวใช่ไหม?"
"ใช่ทีเดียว สมณะ"
"ถ้าไม่ได้สิ่งนั้นตามปรารถนา ท่านรู้สึกเดือดร้อนมากไหม?"
"อันนี้แล้วแต่ความปรารถนารุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ถ้าความปรารถนารุนแรงมากก็เดือดร้อนมาก
ถ้าน้อยก็เดือดร้อนน้อยลดลงมา"
"สมมติว่า ท่านได้สิ่งนั้นมาสมใจอยากท่านรู้สึกมีความเพลิดเพลินพัวพันหลงใหลในสิ่งนั้นใช่ไหม?"
"แน่นอนทีเดียว ท่านสมณะ"
"ขณะที่ท่านเพลิดเพลินหลงใหลนั้นท่านลืมตัวอีกใช่ไหม"
"ลืมอีก" เขาตอบรับ
"ถ้าท่านเอาชนะสิ่งยั่วยวนได้ ไม่หลงใหลมัวเมาในสิ่งใด ๆ สติสัมปชัญญะจะอยู่กับท่านเสมอ ท่านไม่ลืมตัว มีความรอบคอบอย่างนั้นใช่หรือไม่ ?"
"ใช่แน่นอน ท่านสมณะ"
"การที่ท่านเอาชนะสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ได้ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ อันยั่วให้กำหนัด
ขัดเคือง ลุ่มหลง และมัวเมานั่นแหละเรียกว่าท่านเป็นผู้ชนะตนเอง
การชนะตนเองนี้เป็นสิ่งชนะยาก ชนะคนอื่นง่ายกว่า คนที่ชนะตนเองจึงมีน้อย
แต่ใครสามารถเอาชนะได้อย่างเด็ดขาดโดยไม่กลับแพ้อีก เราเรียกว่า
เป็นยอดนักรบในสงคราม สงครามชีวิตซึ่งยืดเยื้อยืนนานที่สุดกว่าสงครามใด ๆ "

พระผู้มีพระภาคหยุดกระแสพระพุทธดำรัสไว้เท่านั้น
"ข้าพเจ้าเข้าใจตามที่ท่านพูดว่า การชนะอารมณ์ยั่วยวนต่าง ๆ
ได้ ชื่อว่าชนะตนเอง แต่ข้าพเจ้าอยากทราบว่า ทำอย่างไรจึงจะเอาชนะอารมณ์ยั่วยวนได้ ?"
"ระวังใจสิ" พระพุทธองค์ตรัส
"ระวังอย่าให้กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ระวังใจอย่าให้ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง และระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา"
"แล้ววิธีระวังเล่า ?" เขาถาม
"พิจารณาโทษของสิ่งนั้น เมื่อเห็นโทษแล้ว บรรเทาความมัวเมาในสิ่งนั้น บรรเทาแล้วพยายามทำให้สิ้นไป
เมื่อสิ้นไปแล้วพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก"
"วิธีที่กล่าวมานี้ทั้งหมดเรียกว่า เป็นการแสวงหาตน เมื่อพบตนแล้วเห็นแจ้งด้วยปัญญาแล้ว จะมองไม่เห็นตน เห็นแต่ความเปลี่ยนแปลง ความทนอยู่ไม่ได้และความไม่ใช่ตัวตน
ความสว่างก็จะเกิดขึ้นในดวงจิตของคนทุกคนที่เห็นเช่นนี้ ไม่จมอยู่ในความมืดอีกต่อไป
ท่านพอตัดสิดได้แล้วหรือยังว่า ท่านจะแสวงหาหญิงดีกว่า หรือจะแสวงหาตนดีกว่า"
"แสวงหาตนดีกว่าอย่างแน่นอน ท่านสมณะ" เขาตอบ
"เพราะเหตุไร ?" พระพุทธองค์ตรัสถาม
"เพราะผู้แสวงหาตนย่อมไม่ต้องวุ่นวายกับการแสวงหาสิ่งอื่นเป็นการลดความทุกข์ไปทีละน้อย ๆ
ในที่สุดทุกข์ก็หมดไป"

เมื่อพระผู้มีภาคทรงเห็นว่าจิตใจของภัททวัคคีย์อ่อนโยนพอที่จะรับพระธรรมเทศนาอื่นได้แล้ว
พระองค์จึงทรงแสดง อนุปุพพิกถา คือเทศนาที่แสดงไปโดยลำดับจากง่ายไปหายาก
เพื่อขัดเกลาจิตใจของผู้ฟังและเตรียมจิตให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ 4
*** อนุปุพพิกถาประกอบด้วยกถา 5 คือ
1. ทานกถา พรรณนาเรื่องทาน
2. สีลกถา พรรณนาเรื่องศีล
3. สัคคกถา พรรณนาถึงความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ
4. กามาทีนวกถา พรรณนาโทษของกาม
5. เนกขัมมานิสังสกถา พรรณนาอานิสงส์แห่งการออกจากกาม
เมื่อจิตใจของพวกภัททวัคคีย์ทั้ง 30 คนละเอียดอ่อนพอที่จะรับพระธรรมเทศนาเบื้องสูงได้แล้ว
จึงทรงประกาศอริยสัจ 4 เมื่อเทศนาจบ ภัททวัคคีย์ทั้ง 30 คนก็มีจิตหลุดพ้นบรรลุโสดาบัน





จาก หนังสือ ชนะใคร ไม่เท่าชนะใจตน
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
โดย แค่ดูก็รู้แจ้ง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 17, 2013, 12:33:34 PM โดย jainu » บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #13 เมื่อ: มิถุนายน 16, 2013, 08:51:20 PM »


ชนะใคร ไม่เท่าชนะใจตน ตอนที่ 2. ชนะใจตน

2.ชนะใจตน


 ชีวิตเราทุกคนปรารถนาความสุข เราต่างมุ่งแสวงหาความสุขและหนีให้พ้นจากทุกข์กันทั้งนั้น
แต่ในการแสวงหาความสุข เรามักมองข้ามสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือ "จิตใจ"
เราแสวงหาทรัพย์สมบัติ เงินทอง เกียรติยศ ตั้งแต่เด็ก เราต้องแสวงหาโรงเรียนที่ดี เข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
หาอาชีพที่ก้าวหน้ามั่นคง หาแฟน สร้างครอบครัว ซื้อบ้านซื้อรถ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ชีวิตทั้งหลายทั้งปวง
โดยที่เข้าใจว่าเมื่อเราได้สิ่งนั้นแล้ว ชีวิตก็จะมีความสุข เราดิ้นรนแสวงหาสิ่งเหล่านี้กันอยู่เป็นเวลาหลายปี
หลายสิบปี แสวงหาไปเรื่อย ๆ แสวงหาไปตลอดชีวิตก็ยังไม่พบความสุขที่แท้จริง
เพราะเหล่านั้นเป็นการแสวงหาความสุขจากภายนอก



พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือ "ใจ" เมื่อจิตใจดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดี
ถ้าจิตใจไม่ดีแล้ว ถึงแม้ว่าจะร่ำรวยขนาดไหน มีลาภ ยศ สรรเสริญ ได้รับความรักจากพ่อแม่พี่น้อง
ได้รับความรักจากสามี ภรรยา จากใครอีกหลายคนก็ตาม แต้ถ้าเราใจไม่สบาย ทุกข์ใจ เสียใจอย่างเดียวก็เสียทั้งหมด
แม้ได้ในสิ่งที่ปรารถนาทุกอย่างก็ตาม ถ้าใจเสียอย่างเดียวก็เท่ากับเสียทั้งหมด หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้



เมื่อสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตอยู่ที่จิตใจ การอบรมพัฒนาจิตใจจึงถือเป็นงานที่สำคัญที่สุดในชีวิต
เราควรสร้างค่านิยมใหม่ที่มุ่งสิ่งเสริมการพัฒนาจิตใจ วางแผนพัฒนาจิตใจให้กับชีวิตตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ๆ
อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา และสังคม
เพื่อที่เด็กจะได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ รู้จักแก้ปัญหา
รู้จักจัดการกับอารมณ์ รู้ว่าคิดดี คิดถูกคืออย่างไร มีการเรียนรู้พัฒนาและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเอง
เรียกว่า มีความฉลาดทางอารมณ์ หรือมีอีคิว (EQ = Emotional Quotient) หมายถึง
ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และพัฒนาอารมณ์ให้เป็นปกติสุขได้
ไม่ว่าเหตุการณ์รอบข้างจะเป็นอย่างไร อีคิวเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นได้จากการอบรมเลี้ยงดู
การฝึกฝนในทุกช่วงของชีวิต คนที่มีอีคิวจะเป็นคนที่เข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น มีมนุษย์สัมพันธ์
รู้จักแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ยอมรับความเป็นจริง
และรู้จักปรับปรุงพัฒนาจิตใจตนเอง ทั้งการคิด การพูด และการกระทำ




การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามหลักของพุทธศาสนาก็คือ
การเอาชนะใจที่เห็นแก่ตัว เอาชนะกิเลสได้ ด้วยการอบรมจิต อบรมสติปัญญา
ให้มีความรู้เท่าทันอารมณ์ สามารถจัดการกับขี้ทั้งหลายในจิตใจ

เช่น ขี้เกียจ ขี้บ่น ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้โมโห ขี้โกรธ ขี้กลัว ขี้โกง ขี้เหนียว ขี้เมา ขี้สงสัย ขี้วิตกกังวล ขี้ฟุ้งซ่าน เป็นต้น

หากเราสามารถทำลายขี้ทั้งหลายในใจได้ก็เท่ากับเอาชนะกิเลสได้
เอาชนะกิเลสความเห็นแก่ตัวในใจได้มากเท่าไหร่ ใจที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ก็จะปรากฎมากขึ้น จนในที่สุดก็จะเป็นใจของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นใจที่บริสุทธิ์
หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้สุขภาพใจดี มีความสุขใจ


จาก หนังสือ ชนะใคร ไม่เท่าชนะใจตน
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
โดย แค่ดูก็รู้แจ้ง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 17, 2013, 12:39:34 PM โดย jainu » บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #14 เมื่อ: มิถุนายน 16, 2013, 08:55:34 PM »

ชนะใคร ไม่เท่าชนะใจตน ตอนที่ 3. แพ้ใจตัวเอง

3.แพ้ใจตัวเอง




ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมบ่อยครั้ง ผู้ก่อเหตุมีการศึกษาดีเยี่ยม มีฐานะร่ำรวย มีชื่อเสียงดี
จนไม่น่าเชื่อว่าเขาจะทำสิ่งที่เลวร้ายได้ขนาดนั้นแต่ก็ได้ทำไปแล้วทำให้น่าเชื่อได้ว่า
เด็กที่มีความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญา หรือที่เรียกว่าไอคิวสูง (Intelligence Quotient)
สมองดี เรียนเก่งอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุข
คนที่มีไอคิวสูงเพียงอย่างเดียว แต่อีคิวต่ำเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค มีปัญหาหนักๆ
เข้ามาในชีวิตมักจะไม่สามารถยอมรับความจิรงได้ เกิดความทุกข์มาก มองโลกในแง่ร้าย ท้อแท้เสียกำลังใจ
และหาทางออกด้วยการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่นดังปรากฏ เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เกือบจะทุกวัน
เช่น นักเรียนตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้
มีบางครอบครัว พ่อมีปัญหาหนี้สินแทนที่จะพยายามหาเงินมาใช้หนี้
กลับคิดสั้นหนีปัญหาด้วยการฆ่าลูกเมียและตัวเองตายกันทั้งครอบครัว
แม้คนเก่งระดับประเทศ หากมีแต่ไอคิวไม่มีอีคิวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ อย่างเช่น
รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นตัดสินใจแขวนคอฆ่าตัวตาย
เพื่อหนีจากการที่เขาจะต้องเผชิญหน้ากับการถูกซักฟอก
ในรัฐสภาจากกรณีอื้อฉาวเรื่องการทุจริตหลายคดีที่กระทบความมั่นคงของรัฐบาล




 หรือเมื่อต้นปีนี้ก็มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับผู้หญิงเก่งระดับประเทศ เป็นนักบินอวกาศหญิงขององค์การนาซ่า
สหรัฐอเมริกาวางแผนฆ่าผู้หญิงที่ทั้งเก่งทั้งแกร่ง ผ่านการทดสอบความสามารถมามากมายหลายรูป
แบบกว่าจะเป็นนักบินอวกาศได้แต่เมื่อใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ก็ทำเรื่องเสียหายอย่างมหันต์ได้




ชีวิตคนเราไม่ว่าจะร่ำรวย มีอำนาจวาสนา มีความสามารถ มีการศึกษาสูงขนาดไหนก็ตาม
หากขาดการพัฒนาจิตใจ พัฒนาด้านอีคิว จิตใจก็จะอ่อนแอ ไม่มีกำลังใจ เมื่อใจไม่ดี ใจเสียอย่างเดียว
ก็เท่ากับเสียทั้งหมด เอาชนะอารมณ์ตัวเองไม่ได้ แพ้กิเลสในใจตัวเองแล้ว ก็แพ้ทั้งหมด




จาก หนังสือ ชนะใคร ไม่เท่าชนะใจตน
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 17, 2013, 12:42:41 PM โดย jainu » บันทึกการเข้า

finghting!!!
Gold Price today, Gold Trend Price Prediction, ราคาทองคํา, วิเคราะห์ทิศทางทองคํา
   

images by free.in.th
Thanks: ฝากรูป dictionary ---------------------Charts courtesy of Moore Research Center, Inc. For more information on Moore Research products and services click here. --- http://www.mrci.com ---------- ---------------------------------------------รูปกราฟแสดงราคาทองในอดีตปี 1974-1999 ของ Moore Research Center, Inc. แสดงฤดูกาลที่ราคาทองขึ้นสูงสุดและตําสุด เอาแบบคร่าวๆ เส้นนําตาลหรือนําเงินก็ใกล้เคียงกัน เส้นนําตาลเฉลี่ย 15 ปี เส้นนําเงินเฉลี่ย 26 ปี ราคาตําสุดของเส้นนําตาล หรือเฉลี่ย 15 ปี ในเดือน ปลายเดือน เมษ และปลายเดือน สค ต่อต้นเดือน กย[/color] สูงสุดในเดือน กพ กับ พย / ส่วนเฉลี่ย 26 ปี ราคาตําสุด ต้น กค กับ ปลาย สค และราคาสูงสุดในเดือน กพ และ กลางเดือน ตค ----- แค่ดูคร่าวๆ เป็นแนวทาง อย่ายึดมั่นว่าจะต้องเป็นตามนี้ ข้างล่างเป็นกราฟราคานํามัน ตามฤดูกาล จาก Charts courtesy of Moore Research Center, Inc. images by free.in.th
Thanks: ฝากรูป dictionary
 บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: