ขอบคุณ อ มาโนชมากคะ สำหรับข้อมูล เพิ่มเติม
อ่านเจอ ตรงนี้ สดุดเลย เมกา กำลังสร้างภาวะตึงเครียด ในด้านการสงครามในภาค เอเซีย
ฮิลลารี คลินตัน กับรมว.ต่างประเทศอินเดีย เอส.เอ็ม. กฤษณะ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ลงจากเครื่องบินในเมืองมุมไบเมื่อวันศุกร์(17) เพื่อเริ่มการปรึกษาหารือทางการเมืองในระดับสูงครั้งแรก ระหว่างคณะรัฐบาลบารัค โอบามากับอินเดีย นับแต่ที่โอบามาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
คลินตันไม่ได้มีกำหนดนัดหมายเร่งด่วนอะไรเลยในมุมไบ แต่เธอก็ยังใช้เวลาระยะหนึ่งก่อนจะมาถึงกรุงนิวเดลีในวันอาทิตย์(19) เธอกล่าวย้ำว่าคณะรัฐบาลโอบามามุ่งหวังที่จะมีความสัมพันธ์แบบพื้นฐานกว้างขวางกับอินเดีย โดยที่จะไปไกลกว่า "การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ซึ่งโดดเด่นด้านการทหาร แบบที่คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช มุ่งมาตรปรารถนา และนิวเดลีเองก็คุ้นเคยเป็นอันดี
เห็นได้ชัดว่าโอบามาปรารถนา "ความสดใหม่" ในความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ-อินเดีย ทว่าพวกนักยุทธศาสตร์ของอินเดียยังคงวนเวียนอยู่ในความเชื่ออันงดงามซึ่งทนุถนอมกันไว้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ที่ว่าอนาคตของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ-อินเดียนั้นวางอยู่บนพื้นฐานที่สองประเทศกำลังก้าวเดิน "เคียงบ่าเคียงไหล่กัน" ในแง่ของการมี "วิสัยทัศน์" ร่วมกัน
มองจากฝ่ายอินเดียแล้ว "วิสัยทัศน์"ดังกล่าวนี้หมายความว่า สหรัฐฯยอมรับความสำคัญลำดับสูงสุดของอินเดีย ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจทางทหารอันดับหนึ่งในภาคมหาสมุทรอินเดีย และมุ่งช่วยเสริมต่ออินเดียให้แข็งแกร่งขึ้นอีก เพื่อเป็นชาติเอเชียรายหนึ่งที่จะคอยถ่วงน้ำหนักจีนเอาไว้ "วิสัยทัศน์"เช่นนี้ทำท่าไปได้สวยงามทีเดียวในยุคของบุช อินเดียได้ดำเนินการสิ่งที่เหมือนกับการฝึกซ้อมทางทหารกับสหรัฐฯถึง 50 ครั้งในระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา
ทว่าโอบามามีการจัดลำดับความสำคัญที่แตกต่างออกไป อเมริกาที่เขารับมรดกมามีเรื่องที่ถือว่าสำคัญแตกต่างไปจากเดิมแล้ว โลกก็เช่นกันได้เปลี่ยนแปลงไปภายหลังการทรุดตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก คลินตันจึงกำลังกระทำภารกิจทางการทูตในฐานะผู้นำข่าวสารอันน่าตื่นตระหนกมายังนิวเดลี
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดียในเวลานี้มีลักษณะคล้ายๆ การแต่งงานอยู่เหมือนกัน นั่นคือคู่ครองฝ่ายหนึ่งเกิดต้องการที่จะมีที่ทางของตนเองขึ้นมาบ้าง สำหรับสหรัฐฯแล้ว ความเป็นจริงที่หนักแน่นแน่นอนก็คือ ปากีสถานต่างหากที่จะเป็นหมากตัวศูนย์กลางในการดำเนินนโยบายระดับภาคต่อเอเชียกลางและต่ออ่าวเปอร์เซียในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป
ฝ่ายอินเดียตั้งความหวังว่าจะเสนอหลักเหตุผลอันน่าเชื่อถือทั้งหลายต่อคลินตัน เพื่อให้เข้าอกเข้าใจว่าทำไมสหรัฐฯและอินเดียจึงควรร่วมมือกันในฐานะหุ้นส่วน เพื่อกดดันปากีสถานให้ปรับปรุงแก้ไขผลงานที่ยังย่ำแย่ทั้งในด้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ และการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์
แต่แล้วคลินตันกลับแสดงท่าทีกระจ่างชัดแจ๋วว่า วอชิงตันกำลังชื่นชมผลงานของปากีสถานใน "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" และคลังแสงนิวเคลียร์ของปากีสถานก็ได้รับการรักษาเอาไว้อย่างแน่นหนาปลอดภัย พฤติกรรมในอดีตของกรุงอิสลามาบัดนั้นไม่เป็นไรหรอก สิ่งที่มีความหมายคือปัจจุบันต่างหาก
อินเดียจะผิดพลาดมากหากมองเรื่องนี้อย่างไม่ถูกต้อง หัวใจของเรื่องนี้ก็คือ สหรัฐฯไม่สามารถยินยอมให้ฝ่ายที่สามใดๆ มารบกวนกิจการอันสำคัญยิ่งยวดของตน ที่จะมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอิสลามาบัดในการทำให้อัฟกานิสถานกลับมีเสถียรภาพ โดยผ่านการสนทนาพูดจากับพวกตอลิบาน ดังที่โฆษกของฝ่ายทหารปากีสถานได้บอกกับซีเอ็นเอ็นระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ต้องเป็นฝ่ายข่าวกรองปากีสถานนั่นแหละจึงจะสามารถนำเอาพวกแกนนำหัวแข็งกร้าวของตอลิบานอย่างเช่น มุลลาห์ โอมาร์ และ จาลาลุดดิน ฮักกอนี เข้าสู่โต๊ะเจรจากับสหรัฐฯได้ ยิ่งกว่านั้น
ในขณะที่เกมแข่งขันช่วงชิงอำนาจในเอเชียกลางกำลังดุเดือดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งถ้าหากสถานการณ์เกี่ยวกับอิหร่านก็ยังคงมีความสำคัญยิ่งยวดแล้ว ปากีสถานย่อมกลายเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่สุด การที่ปากีสถานถูกดึงเอาไปผนวกกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือแม้จะเป็นไปอย่างไม่เนียนและไม่ราบรื่น แต่ก็เป็นหลักฐานชี้ชัดถึงจุดนี้ โชคร้ายที่ฝ่ายอินเดียกลับไม่เข้าใจแผนการเช่นนี้
ในปัจจุบัน นโยบายระดับภาคของอินเดียกำลังมาถึงจุดต่ำสุด และอิทธิพลของอินเดียที่มีต่อเอเชียกลางก็แทบจะเท่ากับศูนย์
เป็นเรื่องน่าเย้ยหยันที่ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ นิวเดลีได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อทำให้นโยบายต่อภาคของตนสามารถประสานสอดคล้องเข้ากับนโยบายของสหรัฐฯ อินเดียตอบสนองต่อสงครามเย็นครั้งใหม่ที่ปะทุขึ้นมาด้วยการทำตัวเหินห่างจากรัสเซีย ผู้เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของตน อินเดียตอบสนองต่อความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่านในกรณีโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน ด้วยการทำให้สายสัมพันธ์อันใกล้ชิดและเป็นมิตรที่มีอยู่กับอิหร่านต้องโรยราลง อินเดียตอบสนองยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนของสหรัฐฯ ด้วยการยอมรับเห็นพ้องกับแนวความคิดอันประหลาดในเรื่องพันธมิตร 4 ฝ่ายกับสหรัฐฯ,ญี่ปุ่น, และออสเตรเลีย แล้วความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดียจากนี้จะเดินต่อไปทางไหน? นิวเดลีนั้นแทบไม่มีทางเลือกตลอดจนมีความโน้มเอียงน้อยมากที่จะปรับเปลี่ยนถอยออกจากนโยบายการต่างประเทศที่ถือสหรัฐฯเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ ชนชั้นทางการเมืองของอินเดียไม่ว่าจะในพรรคคองเกรสที่กำลังเป็นรัฐบาล หรือพรรคภรติยะ ชนะตะฝ่ายค้าน ตลอดจนสื่อมวลชนของบริษัทใหญ่ในอินเดียและชนชั้นกลางทั้งหลาย ก็ล้วนแต่ "นิยมสหรัฐฯ" ทั้งสิ้น
(เก็บความตัดทอนจากเรื่อง Clinton delivers unwanted tidings to New Delhi
เขียนโดย M K Bhadrakumar อดีตเอกอัครราชทูตอินเดียที่เคยประจำอยู่ในหลายประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี)
ที่มา
http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9520000082594 ข้อมูลจาก Manager Online