Forex-Currency Trading-Swiss based forex related website. Home ----- กระดานสนทนาหน้าแรก ----- Gold Chart,Silver,Copper,Oil Chart ----- gold-trend-price-prediction ----- ติดต่อเรา
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติ ตำนาน เรื่องเล่า  (อ่าน 33190 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 5 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #45 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 06, 2013, 07:38:56 PM »

ของมงคล ต้อนรับตรุษจีน




วันตรุษจีนหรือวันปีใหม่ของชาวจีน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่เริ่ิมทำสิ่งดีๆ และในวันตรุษจีนนี่เองที่คนจีนหรือคนไทยเชื่อสายจีนต่างพากันหาของมงคลมาเสริมดวง ให้ตนเองและคนในครอบครัวพบเจอแต่ความเจริญรุ่งเรืองมีเงินทองไหลมาเทมา มีกินมีใช้ไปตลอดปี งั้นเราลองมาดูกันหน่อยดีกว่าค่ะ ว่าของมงคลที่ว่านี้มีอะไรกันบ้างจะได้หามาไว้ในครอบครองเพื่อเสริมดวงนะคะ
 
ของอย่างแรก ได้แก่ คำอวยพรอักษรสีทอง บนกระดาษสีแดง หรือที่เรียกว่า ตุ้ยเหลียน ธรรมเนียมคำอวยพรจีนแบบนี้มีมานานหลายพันปี แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับชาวจีนมานาน ชาวจีนถือว่าคำอวยพรเหล่านี้เป็นของมงคล ติดที่หน้าบ้าน เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน จะทำให้ดีไปทั้งปี โดยมากมักจะอวยพรให้บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น เฮง ๆ ไปตลอดปี


คำอวยพร หรือตุ้ยเหลียนนั้น มีทั้งแบบสำเร็จรูป และแบบเขียน ซึ่งจะพบเห็นอยู่มาก ที่ย่าน เยาวราช เลือกซื้อหากันได้ตามใจ


อั่งเปา ซองใส่เงินสีแดง ๆ ที่ญาติผู้ใหญ่ ชอบแจกเด็ก ๆ หลายคนคุ้นชินกับคำว่า แต๊ะเอีย ซึ่งหมายถึงการให้เงินนั่นเอง เป็นธรรมเนียมที่เป็นวัตรปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี ใครญาติเยอะก็ให้เยอะ บางบ้าน ลูกหลานก็จะให้ญาติผู้ใหญ่ด้วย แล้วผู้ใหญ่ก็จะให้คืนมา นอกจากนี้ก็จะมีการอวยพรให้แก่กัน โดยขอให้รวย ๆ เฮง ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำมาค้าขายกิจการดี เป็นต้น


ของมงคลตั้งโต๊ะหรือประดับบ้าน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะเชื่อกันว่า สิ่งของชนิดต่าง ๆ จะช่วยเสริมบารมี ช่วยให้ทำมาค้าขึ้น หรือมีเงินถุงเงินถังตลอดปี แล้วแต่ตามจุดประสงค์ของใครของมัน ซึ่งของมงคลเหล่านี้มีคุณค่าทางจิตใจของผู้ที่มีไว้ไม่น้อย บางคนไปให้ซินแสช่วยดูว่า ปีนี้ควรมีของอะไรประดับตั้งโต๊ะ หรือติดตัวเพื่อเป็นมงคลแก่ตนเองบ้าง หรือบางคนอาจจะไปไหว้พระไหว้เจ้าที่ตนเองนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตด้วย


สิ่งของมงคลนั้นมีทั้ง ก้อนทอง สัตว์มงคลตามราศีต่าง ๆ หยก โคมแดง พัด (หรือที่เรียกว่าซ่าน) ถั่วง น้ำเต้า เป็นต้น หาซื้อได้ตาม เยาวราช ซึ่งถือเป็นแหล่ง และมีมากที่สุดด้วย


ส้มสีทอง หรือที่ชาวจีนเรียกว่า ส้มไต่กิก นิยมให้แก่กันในวันตรุษจีน โดยมีนัยยะสำคัญว่าเป็นสิ่งที่เป็นมงคล มีความสวัสดีแก่ผู้ที่รับ และโดยธรรมเนียมก็จะมีการให้ส้มแลกเปลี่ยนกัน ทำให้สุขใจกันทั้ง 2 ฝ่าย


ของใช้ ของใหม่ที่มีสีแดง ชาวจีนจะถือว่าสีแดง เป็นสีแห่งความโชคดี เป็นสีที่เป็นมงคล ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่า เวลาไปไหน ที่มีชาวจีนอยู่ หรือ บริเวณที่มีการจัดงานตรุษจีน ทั่วอาณาบริเวณจะต้องเป็นสีแดง ทำให้การเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ในวันตรุษจีน จะต้องเป็นสีแดง ทั้งข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้แต่เสื้อผ้า ที่เป็นธรรมเนียมว่าต้องใส่สีแดง และต้องเป็นเสื้อใหม่ ดังนั้นในวันตรุษจีน จึงมีแต่สีแดง เต็มไปหมด


นอกจากนี้แล้ว ในวันตรุษจีน ชาวจีนทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่พูดคำหยาบ พูดแต่สิ่งดี ๆ ให้แก่กันและกัน และจะไม่ปัดกวาดบ้านในวันปีใหม่เพราะจะเป็นการปัดกวาดสิ่งดี ๆ ที่รับมา ออกไป แต่จะทำความสะอาดกันตั้งแต่ก่อนวันไหว้ เพื่อต้อนรับเทพเจ้าไฉซิ้งเอี๊ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ


ท้ายนี้ ก็คงต้องอวยพรกันว่า ” ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ “ ขอให้มีความสุข เฮง ๆ รวย ๆ กันทุกคน
 
 


ขอบคุณ : www.never-age.com
 
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #46 เมื่อ: เมษายน 13, 2013, 10:36:08 AM »

นางสงกรานต์

เป็นที่ทราบกันดีว่า "วันสงกรานต์" คือ วันขึ้นปีใหม่ไทย โดยมีตำนานความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องในวันสงกรานต์ก็คือ "นางสงกรานต์" ซึ่งมีการบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของนางสงกรานต์ไว้บนจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีเศรษฐีคนหนึ่งรวยทรัพย์แต่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุล โดยบ้านของเศรษฐีคนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตร 2 คน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีที่ไม่มีบุตร จนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร แต่แม้ว่าเศรษฐีจะตั้งจิตอธิษฐานอยู่นานกว่า 3 ปี ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตร
    จนกระทั่งวันหนึ่ง เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอไปถึงก็ได้นำข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น
    รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐีจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานเทพบุตรให้องค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าเทพบุตรก็คลอดออกมา เศรษฐีจึงตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า "ธรรมบาลกุมาร" และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
    ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเมื่ออายุเจ็ดขวบก็ได้เรียนไตรเภทจบ ธรรมบาลกุมารจึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหมได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมาร
    ปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารก็คือ "ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน"
    เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้น ธรรมบาลกุมารไม่สามารถตอบได้ จึงขอผัดผ่อนท้าวกบิลพรหมไปอีก 7 วัน ระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมารก็ได้พยายามคิดหาคำตอบ กระทั่งล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล โดยคิดว่าหากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม
    นับเป็นโชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ และบังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ ธรรมบาลกุมารจึงได้ยินนก 2 ตัวผัวเมียสนทนากัน โดยนางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้จะไปหาอาหารแห่งใด สามีได้ตอบนางนกไปว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมฆ่า เพราะตอบปัญหาไม่ได้
    นางนกจึงถามว่าคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
    เมื่อได้ยินดังนั้น ธรรมบาลกุมารก็ได้จดจำสิ่งที่สามีนกพูดไว้ กระทั่งวันรุ่งขึ้น ธรรมบาลกุมารได้นำคำตอบดังกล่าวไปตอบกับท้าวกบิลพรหม เมื่อท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบริจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมารตามคำท้าไว้
    แต่ปัญหาก็คือ พระเศียรของพระองค์หากตกไปอยู่ที่ใดก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น อย่างเช่น หากตั้งเศียรไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก แต่ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง หรือถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง
    ด้วยเหตุนี้ ท้าวกบิลพรหมจึงมอบหมายให้ธิดาทั้งเจ็ด ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร โดยให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โตเป็นผู้เริ่มต้น ซึ่งนางทุงษะก็เชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที
    จากนั้นประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาศ และเมื่อครบกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ ทำเช่นนี้ทุกๆ ปี
    เนื่องจากเทพธิดาทั้งเจ็ดปรากฏตัวในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า "นางสงกรานต์" ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น นัยก็คือ พระอาทิตย์ เพราะกบิล หมายถึง สีแดง
    ทั้งนี้ ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ และจะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะต่างๆ กันคือ
    ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม "ทุงษะเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
    ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม "โคราคะเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
    ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม "รากษสเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต (เลือด) พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังพระยาวราหะ (หมู)
    ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม "มัณฑาเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
    ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม "กิริณีเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงของ้าว พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังพระยาคชสาร (ช้าง)
    ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม "กิมิทาเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
    ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม "มโหธรเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) มาบนหลังมยุรา (นกยูง)
    สำหรับในปี 2556 นี้ วันเสาร์ที่ 13 เมษายน 2556 ตรงกับวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นามว่า "มโหธรเทวี" มีคำทำนายไว้ว่า วันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ : จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิง และโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแลฯ, วันอาทิตย์ เป็นวันเนา : ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะร้อนใจนักแลฯ, วันจันทร์ เป็นวันเถลิงศก : พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง, นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) : พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
    ข้อสังเกตเกี่ยวกับวันสงกรานต์ ในแต่ละปีนางสงกรานต์จะมาในเวลาต่างกัน และประทับบนพาหนะในอากัปกิริยาแตกต่างกัน เช่น บางปีนางสงกรานต์อาจจะขี่พาหนะ บางปียืนมา และบางปีก็นอนมา โดยมีหลักพิจารณาเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ถ้าดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษเวลานั้น
    รวมทั้งยังมีคำทำนายนางสงกรานต์ที่ทำนายตามความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์ ดังนี้ 1.ดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษเวลารุ่งถึงเที่ยง นางสงกรานต์ยืนมาบนหลังพาหนะ จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ 2.ดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษเวลาเที่ยงวันถึงย่ำค่ำ นางสงกรานต์นั่งมาบนหลังพาหนะ จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ
    3.ดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษเวลาพลบค่ำถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์นอนลืมตาบนหลังพาหนะ ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข และ 4.ดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษเวลาเที่ยงคืนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์นอนหลับตาบนหลังพาหนะ พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี.   
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #47 เมื่อ: เมษายน 13, 2013, 10:41:39 AM »


นางสงกรานต์และคำทำนายปี 2556



เป็นประจำทุกวันสงกรานต์ของทุกปีที่จะมีการประกาศนางสงกรานต์ โดย นางสงกรานต์ปี 2556 ชื่อว่า นางมโหทรเทวี โดยปีนี้มีคำทำนายค่อนข้างดุเดือด


วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน เวลา 1 นาฬิกา 58 นาที 48 วินาที ตรงกับเวลา 2 นาฬิกา 16 นาที 48 วินาที (เวลามาตรฐานประเทศไทยปัจจุบัน) จันทรคติตรงกับ วันเสาร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนห้า(5) ปีมะเส็ง


นางสงกรานต์ปี 2556 คือนางมโหทรเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว(ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) มาเหนือหลังมยุรา(นกยูง) เป็นพาหนะ


เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ ศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ อาโป (ธาตุน้ำ) น้ำมาก น้ำท่วม


เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะเส็ง นาคราชให้น้ำ 1 ตัว ทำนายว่าฝนต้นปีมาก กลางปีงาม แต่ปลายปีน้อยแล


เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแล


วันเถลิงศก ตรงกับ วันอังคารที่ 16 เมษายน เวลา 5 นาฬิกา 56 นาที 24 วินาที ตรงกับเวลา 6 นาฬิกา 14 นาที 24 วินาที (เวลามาตรฐานประเทศไทยปัจจุบัน)


จันทรคติตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือนห้า(5) ปีมะเส็ง


คำทำนายสงกรานต์ 2556 วันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ : จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิง และ โจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแล ฯ วันจันทร์ เป็นวันเนา : เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่างๆ วันจันทร์ เป็นวันเถลิงศก : พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) : พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 13, 2013, 01:27:06 PM โดย jainu » บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #48 เมื่อ: เมษายน 13, 2013, 10:47:08 AM »

'ดอกลำดวน'และวัน'ผู้สูงอายุแห่งชาติ' 13 เมษายน


วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีนอกจากจะเป็นวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ของไทย ยังถือว่าเป็นวันผู้สูงอายุ


ผู้สุงอายุ หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และสหประชาชาติได้ศึกษารวบรวมข้อมูลประชากรผู้สูงอายุได้แบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้นและผู้สูงอายุตอนปลาย


ผู้สูงอายุตอนต้น หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง


ผู้สูงอายุตอนปลาย หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ทั้งชายและหญิง


เฉลี่ยเมื่อแรกเกิด หมายถึงจำนวนปีที่บุคคลหนึ่งเมื่อเกิดมาแล้วมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปจนกระทั่งตาย


อายุขัยเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปี หมายถึง จำนวนปีที่บุคคลหนึ่งเมื่ออายุครบ 60 ปี แล้วมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป จนกระทั่งตาย


ความเป็นมาของวันผู้สูงอายุ สืบเนื่องจาก สหประชาชาติ ได้จัดการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วย ผู้สูงอายุขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยองค์การอนามัยโลกได้เล็งเห็นว่าผู้สูงอายุมีบทบาทสำคัญทั้งทางด้านสังคม ครอบครัวและประเทศชาติ จึงได้กำหนดให้เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยกำหนดคำขวัญว่า "Add Life to year" ทั้งนี้ ทางองค์การอนามัยโลกต้องการให้ประเทศต่างๆ ทั้งโลก ช่วยกันส่งเสริมสถานะของผู้สูงอายุโดยกำหนดคำขวัญว่า "ให้ความรักพิทักษ์อนามัยผู้สูงวัยอายุยืน"


จากการประชุมสหประชาชาติ ในปี พ.ศ.2525 ว่าด้วยเรื่องของผู้สูงอายุได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ


- ด้านมนุษยธรรม


- ด้านการพัฒนา


- ด้านการศึกษา


สำหรับประเทศไทยในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งในอันที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข จึงได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เดือดร้อนมีความทุกข์ยากประสบปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ.2496


โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้


1.เพื่อให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน ยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้


2.เพื่อให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการบริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยายาม กายภาพบำบัด นันทนาการ


3.เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้


4.เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมและให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างผาสุกตามสมควรแก่อัตภาพ


5.เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ


6.เพื่อผู้สูงอายุจะได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้แล้วทางรัฐบาลมีหน้าที่จะเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูต่อไป


ดังนั้น คณะรัฐมนตรีได้ลงมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ การกำหนดวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และปลัดกระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นว่าผู้สูงอายุนั้นถือว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญทั้งทางด้านสังคม ครอบครัวและประเทศชาติ ทางรัฐบาลมีหน้าที่จะต้องเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูต่อไป





รัฐบาลในสมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นอกจากจะอนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ แล้ว


ยังได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย


"ลำดวน" มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Melodorum fruticosum Lour. อยู่ในวงศ์ Annonaceae ภาคเหนือเรียกว่า หอมนวล มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงราว 3-15 เมตร ลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาล เรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด แตกกิ่งก้านสาขาตามลำต้น ใบออกเรียงสลับ เป็นใบเดี่ยว ปลายใบแหลม โคนใบมนขอบ ใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนใต้ใบสีจะอ่อนกว่า ดอกเป็นดอกเดี่ยว สีเหลืองนวลมีกลิ่นหอม ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกและกลีบรองดอกมีลักษณะคล้ายกัน มีความหนาและแข็ง ดอกหนึ่งมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นในจะมีขนาดเล็กกว่าและโค้งกว่า ปลายกลีบแหลม เริ่มออกดอกราวเดือนธันวาคม-มีนาคม


ส่วนผลมีสีเขียวอ่อน กลมเล็ก ผิวเรียบเกลี้ยง ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ออกรวมกันเป็นกลุ่ม เมื่อสุกสีดำ รสหวานอมเปรี้ยว สรรพคุณทางพืชสมุนไพรนั้น


เปลือก ใช้แก้ไข้ ดับพิษร้อนในร่างกาย


ดอก แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต


เกสร ผสมเป็นยาบำรุงเลือด บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ และแก้ลม ด้วยเหตุที่ลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่มหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิ ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไปประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ


ในวันผู้สูงอายุ 13 เมษายน 2556 ขอเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน และประชาชนเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ แสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ท่านโดยการปฏิบัติตัวเป็นคนดีของครอบครัว สังคมและประเทศชาติแสดงความรัก เอื้ออาทร โดยไปกราบขอพรผู้สูงอายุที่เป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย รดน้ำขอพร นำสิ่งของไปมอบให้เพื่อระลึกถึงพระคุณที่ท่านได้อุปการะเลี้ยงดูมา


และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #49 เมื่อ: เมษายน 13, 2013, 11:01:44 AM »












บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #50 เมื่อ: เมษายน 13, 2013, 11:05:02 AM »

กิจกรรม วันสงกราน ประเพณีสงกรานต์


























บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #51 เมื่อ: พฤษภาคม 24, 2013, 10:54:40 AM »





วันวิสาขบูชา
วันต้นไม้ประจำปีของชาติ


วันต้นไม้ประจำปีของชาติ ตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ไว้เป็น ที่ระลึกและช่วยเพิ่มพูนทรัพยากรป่าไม้ อันเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ อีกทางหนึ่งด้วย
การส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2484 โดยกรมป่าไม้ จากนั้นในปี พ.ศ.2495 ได้มีการกำหนดให้มีวันปลูกต้นไม้ประจำปีขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2495 กำหนดให้วันชาติ วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันปลูกต้นไม้ประจำปี และส่งเสริมให้ประชาชนขอรับกล้าไม้ไปปลูกในสถานที่ต่างๆ
วันปลูกต้นไม้ประจำปี ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อและระยะเวลา ไปตามความเหมาะสม กล่าวคือในปี พ.ศ.2503 ทางราชการประกาศยกเลิกวันชาติ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2503 กำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็น “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ”
เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน มีฝนตก เหมาะสมกับการปลูกต้นไม้
ปัจจุบันวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล กล่าวคือ
จะมีฝนตกก่อนถึงวันเข้าพรรษา และฝนจะทิ้งช่วงในระหว่างฤดูกาลเข้าพรรษา ทำให้การปลูกต้นไม้ในช่วงเข้าพรรษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอาอนุมัติให้วันวิสาขบูชา เป็นวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติแทนวันเข้าพรรษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2532 กำหนดให้วันวิสาขบูชาของทุกปีเป็น “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ” เพราะเป็นระยะเริ่มต้นฤดูฝน มีฝนตกลงมาแล้ว ซึ่งจะทำให้กิจกรรมการปลูกต้นไม้ได้ผลดียิ่งขึ้น



http://www.panmai.co...dar/May_b.shtml

บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #52 เมื่อ: มิถุนายน 03, 2013, 01:21:55 PM »

ตามรอย “พุทธทาส” ในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้!





“พุทธทาสภิกขุ” นามนี้ดังก้องโลก หลายคนอาจเคยมีโอกาสเดินตามรอยท่าน จากบทธรรมคำสอนที่ฝากเอาไว้อย่างมากล้น มากเสียจนแม้กระทั่งผู้ที่ไม่เคยก้าวย่ำลงไปศึกษาพระธรรมด้วยตนเอง คงเคยได้รับอานิสงส์แห่งความเมตตาไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง ผ่านตัวอักษรในหน้าหนังสือ ผ่านคำเทศน์ที่ยังถูกเปิดซ้ำๆ ดั่งเจ้าของสำเนียงไม่เคยลาลับไปไหน
       ในวาระครบรอบ 20 ปีมรณกาล และรำลึกเดือนแห่งการเกิดของท่าน (พ.ค.) จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ตามรอย ปัดฝุ่นอดีตผู้ยิ่งใหญ่ จากปากคำของคนใกล้ชิด ในอีกหลายแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยรู้!



เด็กชายเงื่อม (ท่านพุทธทาสภิกขุ)

เลือด “ศิลปิน” จากโยมพ่อ
       “เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
       จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
       เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
       ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
       จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
       อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
       เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า
       ตายเปล่าเลย ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง”
       
       “มองแต่แง่ดีเถิด” คือหนึ่งในบทธรรมคำสอนจากท่านพุทธทาส หากลองติดตามงานเขียนของท่าน จะรู้ว่าบทกลอนคือกลวิธีอีกอย่างหนึ่งที่มักถูกหยิบมาใช้เพื่อถ่ายทอดธรรมะ สะท้อนให้เห็นอารมณ์ศิลปินในตัวท่านที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ว่ากันว่าคุณสมบัติข้อนี้สืบทอดมาจากโยมพ่อ “นายเซี้ยง พานิช” ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน มีทักษะในการต่อเรือและมีศิลปะในการวาดภาพ




ตามรอยไปยังบ้านเกิด

ลองตามรอยท่านไปยังสถานที่เกิด ณ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงแม้จะถูกเปลี่ยนมือ เปลี่ยนผู้อยู่อาศัยมาหลายรุ่นแล้ว แต่ตัวบ้านยังคงสภาพรอยอดีตเดิมเอาไว้ ไม่ได้ทุบทิ้งไปไหน ตัวเรือนมีความกว้างประมาณ 3 เมตร และลึกเข้าไปสัก 9 เมตร ยังคงเป็นอู่ต่อเรือซึ่งเชื่อมต่อกับลำธารกว้างใหญ่ ความร่มรื่นและร่มเย็นของบรรยากาศโดยรอบในขณะนี้ ช่วยให้พอจะจินตนาการได้ว่า “เด็กชายเงื่อม พานิช” หรือ “ท่านพุทธทาส” ที่ใครๆ ต่างเทิดทูนในวันนี้ โตมากับความสงบเงียบเช่นไร
       
       ถึงแม้บ้านเก่าของท่านจะเป็นร้านขายของชำประจำหมู่บ้าน “ร้านไชยาพานิช” มีชีวิตอยู่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ ซื้อมาขายไปตลอดเวลา แต่ท่านกลับไม่ได้พกเอานิสัยเห็นแก่ได้อย่างที่พ่อค้าทั่วๆ ไปมักติดตัวมาด้วย ทั้งที่เคยใช้เวลาอยู่ดูแล เป็นผู้จัดการร้านแทนโยมแม่ “นางเคลื่อน พานิช” หลังโยมพ่อเสียชีวิตอยู่ระยะหนึ่ง อาจเป็นเพราะท่านเอาจิตใจใส่ลงไปในกองหนังสือมากมายภายในร้านมากกว่า
       
       เพราะบ้านของท่าน นอกจากจะขายสินค้าเรือกสวนไร่นาและสินค้าจากทะเลแล้ว ยังมีสินค้าประเภทหนังสือขนส่งมาจากกรุงเทพฯ ด้วย เป็นหนังสือเหลือเอามาโละขายลดราคา ทางร้านจึงรับซื้อไว้ ทำให้เด็กชายใฝ่รู้ตัวน้อยๆ ในตอนนั้นติดหนังสือ และกลายเป็นนักอ่านตัวยงตลอดชีวิตของเขา




“มัธยัสถ์” เช่นโยมแม่
       ส่วนนิสัยประหยัด-มัธยัสถ์ น่าจะได้มาจากโยมแม่ ด้วยความที่เป็นพี่ชายคนโต มีน้องชายหนึ่งคน น้องสาวอีกหนึ่งคน เด็กชายเงื่อมจึงต้องแบกความรับผิดชอบเอาไว้แต่เล็กๆ ต้องค้าขายช่วยคุณพ่อ ควบคู่กับการช่วยงานครัวคุณแม่ ทำให้สามารถทำกับข้าว-เข้าครัวได้อย่างไม่เคอะเขิน และช่วยให้ซึมซับวินัยหลายๆ อย่างจากคุณแม่มาไว้กับตัว
       
       
       ยกตัวอย่างง่ายๆ ในสมัยก่อนนั้น ทุกคนยังคงดื่มน้ำจากขันกันอยู่ ทั้งๆ ที่น้ำสมัยก่อนเป็นน้ำฝน ไม่ใช่น้ำประปา เรียกว่าเป็นน้ำฟรีก็ว่าได้ แต่ท่านจะถูกสอนให้ตักกินแต่พอดี ไม่ให้ตักดื่มครึ่งหนึ่งแล้วเททิ้งอย่างที่หลายคนนิยมทำ เพราะคุณแม่สอนไว้ว่าถือเป็นการสิ้นเปลือง
       แม้กระทั่งเรื่องการใช้ฟืนใช้ไฟในระหว่างหุงต้ม ฟืนแดงๆ หลังหุงข้าวเสร็จก็ไม่ให้เปล่าประโยชน์ ให้วางแผงใช้ทำอย่างอื่นต่อ เช่น การปิ้งปลา การคั้นกะทิก็ต้องให้คุ้ม คนอื่นอาจจะคั้นกันแค่ 2 เที่ยว แต่โยมแม่ของท่าน สอนให้คั้นถึง 4 เที่ยว โดยให้เอาฝอยมะพร้าวเหล่านั้นมาตำให้ละเอียดหลังจากคั้นไปแล้ว 2 รอบ แล้วมาคั้นอีก 2 รอบ จะช่วยให้ได้น้ำจากกะทิออกมาเพิ่มขึ้น
         
       
       ในสมัยที่ยังเรียนหนังสือ ท่านได้ค่าขนมเพียงวันละ 1 สตางค์ เทียบกับปริมาณอาหารสมัยนั้น แทบแลกอะไรกินไม่ได้เลย ถ้าวันไหนไม่ได้หอบอาหารมาจากบ้าน ก็ต้องซื้อขนมจีนอย่างเดียว และอาศัยเด็ดยอดผักบุ้งละแวกนั้นเอามาใส่จานกินเพิ่มให้อิ่มท้อง ซึ่งท่านได้เขียนเล่าชีวิตในช่วงนั้นเอาไว้ว่า “ก็อิ่มท้องและอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้” ยิ่งช่วยตอกย้ำให้เห็นนิสัยมัธยัสต์ของท่านได้อย่างชัดเจน
       นิสัย “ช่างคิด” ก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่บ่มเพาะอยู่ในตัวท่านพุทธทาส จากเรื่องเล่าการเป็นเด็กวัดบางช่วงบางตอน สามารถบอกเล่าความมีวินัยในตัวท่านได้อย่างน่าทึ่ง
       
       
       “สุภาพบุรุษเด็กวัด ตื่นสายไม่ได้ ต้องตื่นก่อนไก่ลงคอน ถ้าไก่ลงจากคอนแล้วยังนอนอยู่ จะโดนเพื่อนเอาน้ำสาดและโดนแกล้งด้วย, สุภาพบุรุษเด็กวัดต้องอดกลั้นอดทน ไม่เป็นคนช่างฟ้อง ถ้าเพื่อนแกล้ง สุภาพบุรุษเด็กวัด ไม่ฟ้องอาจารย์, รู้จักจัดสำรับให้พระให้พร้อม รวมทั้งน้ำดื่มน้ำใช้ ระหว่างที่พระฉันอาหาร ไปไหนไม่ได้ ต้องคอยรับใช้ไม่ให้มีผิดพลาด,
       ถอยอาหารเมื่อพระฉันเสร็จ แบ่งให้หมาแมวกินก่อนคน, กินอาหารต้องไม่มูมมาม ต้องอย่าเคี้ยวเสียงดัง สั่งขี้มูก แคะขี้มูกไม่ได้, ล้างถ้วยจานชามเก็บให้เรียบร้อย เรียนหนังสือ อ่านหนังสือ สวดมนต์ทำวัดเช้า-เย็นได้ นี่ประโยชน์ของการเป็นเด็กวัด, นวดเฟ้นบีบนวดพระอาจารย์ จะได้ฟังเรื่องตลกๆ เรื่องตาเถร-ยายชี เป็นเรื่องตลก ไม่หยาบ, หัดมวยไว้ป้องกันตัว เมื่อจะต้องชกต่อยกับวัดอื่นเพื่อแสดงความเป็นนักสู้”



สมุดพกของเด็กชายเงื่อม

บวกกับบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ “สมุดพกชั้นประถมศึกษาของเด็กชายเงื่อม” แห่งโรงเรียนวัดโพธาราม บันทึกด้วยแรงมือของอาจารย์ผู้ดูแล บอกเล่าอุปนิสัยการเล่าเรียนเอาไว้ว่า “ประพฤติเป็นคนอยู่ปกติไม่ค่อยได้ ท่าทางอยู่ข้างองอาจ ในเวลาทำการมักชักเพื่อนคุย มารยาทพอใช้ ทำการงานสะอาด” ทั้งยังเขียนสรุปรวบยอดในปลายปีว่า “1.มีความหมั่นดีทำการงานรวดเร็ว 2.ยังไม่เคยประพฤติรังแกเพื่อน และยังไม่เคยต้องบังคับให้มาเรียน 3.นิสัยจำอะไรแม่น และชอบทำสิ่งที่เป็นจริง 4.ปัญญาพออย่างธรรมดาคน”
       
       
       หลายคนอาจเคยวาดภาพไว้ว่า ผู้ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สร้างผลงานอันล้ำค่ามากมายประดับเอาไว้อย่าง “พุทธทาส อินทปัญโญ” จะต้องเป็นเติบโตมาบนเส้นทางสวยหรู เป็นเด็กหน้าห้อง หรือมีไอคิวระดับสูงสุดๆ แต่ตัวท่านเองเคยพูดถึงช่วงชีวิตวัยเรียนของท่าน ขณะเรียนโรงเรียนสารภีอุทิศ ชั้นมัธยมฯ เอาไว้ว่า
       “การเรียนหนังสือนั้น ผมไม่รู้สึกว่าเรียนเก่ง แต่สอบได้ไม่เคยตก แต่เรียนไม่ค่อยสนุกแรกๆ ไปคิดถึงบ้าน ยังไม่ทันหยุดตอนเที่ยงก็คิดถึงบ้าน เศร้า คิดถึงบ้านเหมือนอย่างกับเราไปเสียไกลจากพ่อแม่ เรียนมันไม่สนุก สอบซ้อม สอบไล่พอทำได้” และหลังจากจบชั้น ม.3 ท่านก็ต้องลาออกจากโรงเรียน เพราะโยมพ่อเสียชีวิตด้วยโรคลมปัจจุบัน ชีวิตในช่วงต่อมาจึงเป็นช่วงลองเรียนลองรู้นอกโรงเรียนด้วยตัวท่านเองทั้งสิ้น
       
 




“พระบ้า” ที่น่านับถือ
       ตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น ยังไม่ได้ตัดสินใจละทางโลกอยู่ในผ้าเหลือง นายเงื่อมมีนิสัยใฝ่ธรรมตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ศึกษานักธรรมตรี-โท-เอก มาตั้งแต่ก่อนบวช และมักจะใช้พื้นที่บริเวณบ้าน โต้ธรรมะกับบุรุษไปรษณีย์นายหนึ่งอยู่เสมอ ผลัดกันโต้แย้งแสดงเหตุผลว่าธรรมะข้อไหนเป็นอย่างไร ทำแบบนี้เป็นกิจวัตรทุกเช้า จนเป็นที่รู้กันว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้ “นายดาว ใจสะอาด” บุรุษไปรษณีย์นายนั้นไปทำงานสายเป็นประจำ
       
       
       หลังจากมีอายุครบบวช 20 ปี ฉายาทางธรรม “อินฺทปญฺโญ” ซึ่งแปลว่า ผู้มีปัญญามาก ก็เกิดขึ้น เริ่มเดินอยู่บนครรลองแห่งธรรมจากนั้นก็บวชแบบไม่สึกอีกเลย หลังบวชไม่นาน ท่านก็สามารถออกเทศน์ได้ เพราะศึกษานักธรรมมาล่วงหน้านานแล้ว ว่ากันว่าญาติโยมนิยมฟังเทศน์จากพระรูปนี้มาก เพราะท่านเทศน์ไม่เหมือนรูปอื่นๆ พระรูปอื่นมาถึงก็จะกางใบลาน เทศน์ตามตัวหนังสือ รุ่นไหนมาก็เทศน์เหมือนกัน
       แต่ท่านพุทธทาส ใช้วิธีกางใบลาน เริ่มต้นเทศน์ตามธรรมเนียม แต่หยิบเรื่องที่ท่านค้นพบมาแทรก เอาเหตุการณ์ปัจจุบันมาพูดถึง ชาวบ้านก็เลยติดฟังเทศน์จากท่าน ติดมากถึงขนาดถ้ามีพระรูปไหนเทศน์ชนกับท่านในวันเดียวกัน จะไม่มีใครไปฟังเลย จนต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดตารางไม่ให้ชนกัน



กุฏิกลางวัดร้าง “ตระพังจิก”

แล้วก็มาถึงช่วงชีวิตพลิกผัน เมื่อท่านเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนภาษาบาลีและคาดหวังว่าจะได้เจอพระอรหันต์ แต่กลับผิดหวังเมื่อพบว่าพระที่กรุงเทพฯ ไม่เคร่งเท่าพระบ้านนอกเสียด้วยซ้ำ บวกกับนิสัยคิดไม่เหมือนใคร ชอบตีความพระธรรมในความหมายต่างออกไป ทำให้สอบไม่ผ่าน เกิดกลายเป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายกรุงเทพฯ จนลั่นวาจากับตัวเองไว้ว่า
       “เอาดีที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ก็ต้องกลับมาเอาดีที่บ้านแทน” จึงตัดสินใจหาทางค้นพบพระอรหันต์ด้วยตนเอง มองหาสถานที่ที่จะสามารถสืบทอดการปฏิบัติและเผยแผ่ธรรม จนได้มาเจอเข้ากับวัดร้าง “ตระพังจิก” และกลายมาเป็นสวนโมกข์แห่งแรก เป็นต้นกำเนิดแห่ง “โมกขพลาราม” มาจนถึงทุกวันนี้
       
       
       80 ปี คืออายุของวัดที่ร้างมานานก่อนท่านจะเข้ามาบุกเบิก เข้ามาอยู่ในป่าเพียงลำพังพร้อมสมบัติติดตัวไม่กี่ชิ้น สร้างเพิงเล็กๆ ขึ้นมาเป็นกุฏิเพื่อเขียน-อ่าน และจำพรรษา ไม่มีแม้กระทั่งมุ้งลวดไว้กันยุง ทั้งที่รู้กันดีว่า ท่ามกลางป่าอับชื้นเช่นนี้ ยุงป่าช่างดุร้ายกระหายเลือดยิ่งนัก แต่ท่านก็ใช้วิธีหลบยุง คือออกจากกุฏิก่อนมืด แล้วค่อยกลับมาใหม่หลัง 2 ทุ่ม และไม่เคยตบฆ่ายุง
       ถึงคราวพลาดพลั้ง เผลอลูบตามเนื้อตัวแล้วฆ่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้โดยไม่ตั้งใจ ท่านจะลงโทษตัวเองด้วยการเข้าไปนั่งในป่าให้ยุงกินเลือด ฆ่าไปตัวหนึ่ง ท่านจะชดใช้ให้ยุงกัดกินไปอีก 10-20 ตัว เพื่อทดแทน

 
 
ที่ประจำ นั่งอ่าน-เขียน
 
 
       ชาวบ้านละแวกนั้นต่างลือกันว่าท่านเป็น “พระบ้า” ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ มารักษาตัวอยู่ที่นี่ เพราะไม่เชื่อว่าพระสติดีๆ ที่ไหนจะมาอยู่ท่ามกลางป่าร้าง อยู่กับสิงสาราสัตว์มากมาย ทั้งกระจง ค่าง กระรอก ไก่ป่า และหมูป่า มีหมด อันตรายรอบตัว แต่ท่านสามารถสร้างความคุ้นเคยกับสถานที่และหาความสุขสงบจากการปฏิบัติธรรมได้
       ด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้าในพุทธศาสนา เวลาจึงพิสูจน์ว่าท่านไม่ใช่พระบ้า แต่คือพระที่ญาติโยมต่างเคารพศรัทธา เดินทางมากราบไหว้และขอเดินตามรอยท่านนับแต่นั้นมา สมกับนาม “พุทธทาส” ที่มีความหมายว่า ทาสของพระพุทธเจ้า
       
       
       และนี่คือตอนหนึ่งของบทสวดมนต์ทำวัตรเย็น ซึ่งเป็นที่มาของนาม “พุทธทาส”... “ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้แด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดั่งว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า พุทธทาส (ทาสของพระพุทธเจ้า)”
       
       
--------------------------------------------------------------------------------

ห้องพักก่อนวาระสุดท้าย
 
 
 
ภายในห้องพัก ช่างเรียบง่าย

 
       “เราจะตายแล้วโว้ย!!”
       ในโลกแห่งธรรม คำสอนของท่านยังคงเคลื่อนไหวอยู่เสมอ... ทุกขณะจิต แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านก็ยังคงใช้ร่างกายและจิตใจของตน พิจารณาสังขาร เป็นแบบอย่างให้คนบนโลกนี้ได้เดินรอยตาม โดยเฉพาะ “พระอาจารย์สิงห์ทอง เขมิโย” พระอุปัฏฐาก หรือพระผู้คอยดูแลรับใช้มากว่าสิบปี ตั้งแต่ท่านยังสุขภาพดี กระทั่งอาพาธด้วยโรคตามอายุขัย ได้บอกเล่าลมหายใจช่วงสุดท้ายของท่านด้วยสำเนียงซื่อๆ เอาไว้ว่า
       
       
       “ด้วยพระเดชพระคุณของหลวงพ่อ ตื่นมาตอนตีสี่ ปลุกเราบอก “ทอง ตื่นๆๆ เราจะตายแล้วโว้ย” เรายังนอนไม่ตื่น เอามือลูบที่ตา มองไปแล้วเห็นท่านนั่งเขียนหนังสืออยู่ เราก็คิดในใจ จะตายก็สมควรตาย ถ้ายังเขียนหนังสือได้แบบนี้ (หัวเราะ) เราก็คิดแบบคนซื่อน่ะนะ
       ท่านบอกให้ไปตามคนที่ดูเรื่องพิมพ์หนังสือมาให้ท่าน ท่านบอกว่า “ไม่ไหวแล้วโว้ย เอามันไม่อยู่แล้ว” แสดงว่าท่านดูร่างกายและจิตใจตัวเองไปทุกขณะ รู้ตัวมีสติตลอด เรื่องกายและลมหายใจที่ท่านสอนมา ท่านเอามาใช้แม้กระทั่งลมหายใจสุดท้าย”

 
 
พระสิงห์ทอง พระผู้คอยดูแลรับใช้อย่างใกล้ชิด
 
 
       ตอนที่ท่านป่วยหนัก เรื่องได้ยินถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงส่งหมอหลวงมานิมนต์ให้ไปรักษาตัว “มาถึงก็รายงานตัวเลยว่าเป็นหมอ เป็นตัวแทนในหลวงมานิมนต์ เป็นคนทั่วไปจะตอบว่าอะไร คงรีบไปเลย ดีใจมาก แต่ท่านตอบว่า “เราไม่หอบสังขารหนีความตายโว้ย ไปบอกในหลวงท่านด้วย” แล้วหมอเขาจะกล้าไปรายงานแบบนี้ไหม (หัวเราะ) นี่คือความเด็ดขาดของท่าน พอถึงเวลาที่รู้ว่าสู้กับมันไม่ไหวแล้ว ท่านก็พิจารณามันไปเรื่อยๆ และปล่อยวางไปตามอาการ”
       
       ด้วยโรคที่รุมเร้ามากมาย ในหลวงท่านจึงทรงส่งหมอมาดูแล “ท่านป่วยเป็นความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเก๊า เป็นสารพัดโรค กินยาวันละเป็นกำๆ ตอนนั้นก็อายุ 80 กว่าแล้ว แต่ท่านไม่เคยมีปัญหาเรื่องอารมณ์ ไม่เคยหงุดหงิดเลย เพราะถ้าเป็นแบบนั้น คงจะไม่เป็นพุทธทาส ถ้าคุณทำได้แบบท่าน คุณรวยอารมณ์แน่นอน

 
  บทเรียนจากร่างกาย ฝากไว้ให้พุทธศาสนิกชน 
 
 
       ท่านเป็นโรคเก๊า ปวดจนลุกไม่ขึ้น ก็แค่เอายาลดกรดเล็กๆ เข้าไปในปาก แล้วบอกว่าไปตามคนทำหนังสือมา มาทำหนังสือกัน ถ้าเป็นเรา เราจะมีใจทำไหม ปวดเก๊าแบบนี้ แต่ท่านรู้ทันไง ท่านก็ปล่อยให้ร่างกายเจ็บปวดไป ส่วนท่านก็เอาจิตไปเพ่งไว้ที่การเขียนหนังสือ ไม่เดือดร้อนกับมัน ในเมื่อเอามันไม่อยู่ ห้ามมันไม่ได้ ก็ปล่อยมันไป ให้พิจารณาหนังสือ พร้อมกับปล่อยให้มันปวดไป เดี๋ยวความปวดมันก็หายไปพร้อมๆ กับหนังสือเสร็จตอนเย็นนั่นแหละ
       
       เวลานัดใคร เขาจะมาไม่มาก็ช่าง นายกฯ จะมาเยี่ยมก็ช่างเขา ไม่ไปนั่งกังวล ท่านก็นั่งเขียนหนังสือของท่านไปเรื่อย พอแขกมาท่านก็ไปต้อนรับ เสร็จท่านก็มาเขียนหนังสือต่อ ท่านจัดสรรชีวิตของท่าน ไม่เคยปล่อยให้ขึ้นลงไปตามอารมณ์ แต่คนทั่วไป ไม่เคยจัดสรร เพราะมัวแต่ไปนอนกอดอารมณ์ ทุกข์มันก็เลยเกิด”

 
 
 
 
       เวลาล่วงเลย จากตอนปลุกพระสิงห์ทองจนถึงหกโมงเช้า ท่านสั่งลาว่า “เธอฉันเพลแทนเราด้วยนะ” แล้วก็หยิบพวงกุญแจที่บั้นเอวออกมาและบอกว่า “เราไม่อยากตายคาพวงกุญแจ” จากนั้น ยื่นพระสิงห์ทอง
       “ท่านจัดการทุกอย่างไว้หมดเลย แสดงว่าท่านรู้ว่ากำลังจะตาย จนประมาณ 7 โมง คนอื่นที่นั่งเฝ้าอยู่ด้วยกันก็เลยบอกว่า อย่ากวนท่านเลย ไปเถอะ หลังจากนั้น 30 นาทีให้หลัง ท่านก็ถึงเริ่มบอกว่า “ทอง ลิ้นเราแข็งแล้วนะ”
       ท่านลองตามอาการไปเรื่อยๆ นี่แหละคือธรรมะข้อสุดท้ายที่ท่านให้ไว้ ใช้สังขารของท่านสอน ให้ตามรู้ตามเห็นทุกอย่าง ท่านไม่เผลอ มองเห็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทุกขณะจริงๆ”
       
       
       กระทั่งวาระปลงศพในวัย 87 “พุทธทาส อินทปัญโญ” ก็ยังได้แสดงธรรมบทสุดท้ายเอาไว้ เป็นธรรมบนกองเพลิงให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ ทั้งยังฝากฝังแนวคิดสำคัญ เตือนใจพุทธศาสนิกชนทุกผู้ทุกนามเอาไว้ว่า
       
       “โลงศพของอาตมา ก็คือ ความดีที่ทำไว้ในโลก ด้วยการเผยแผ่พระธรรม, ป่าช้าสำหรับอาตมา ก็คือ บรรดาประโยชน์และคุณทั้งหลาย ที่ทำไว้ในโลกเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์”

 
 
 
 
             
       ข่วโดย ASTV ผู้จัดการ LITE
 
 

บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #53 เมื่อ: มิถุนายน 10, 2013, 02:02:30 PM »


กระดานชนวนโบราณ

กระดานชนวน มีหน้าตาคล้าย ipad ในปัจจุบัน มีใช้ในประเทศไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้วทำจากหินบางๆ หนาเพียง 2-3 มิลลิเมตร กรอบแตกง่าย เวลาเขียนต้องใช้ดินสอหินฝนปลายให้แหลมก่อน ต่อมาใช้ชอล์กแทนใช้ผ้าชุบน้ำแทนยางลบกระดานชนวนเขียนได้ครั้งละ 2 หน้า การบ้านจึงมีแค่ 2 หน้าพอหมดหน้าก็ให้ครูตรวจแล้วลบทิ้งทำใหม่



ในกรุงเทพฯ น่าจะเลิกใช้กระดานชนวนก่อนปี พ.ศ. 2504 ส่วนในต่างจังหวัด มีการยืนยันว่าคนที่เกิดปี พ.ศ.2508 ยังได้ใช้กระดานชนวนอยู่ ตอนเรียน ป.1-3 ดังนั้นกระดานชนวนน่าจะเลิกใช้จากประเทศไทยประมาณปี 2516



พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้อธิบายไว้ว่า กระดานที่ใช้เขียน มีสองอย่าง สำหรับ นักเรียนชั้นแรกหัดเขียน ก ข เรียกว่า กระดานดำ ทำด้วยไม้กระดานกว้างประมาณ ๑ คืบ ยาวประมาณ ๒-๓ ศอก หนาราว ๒ กระเบียด ด้านที่ใช้เขียนหนังสือ ไสกบ จนเกลี้ยงเรียบ ทาด้วย เขม่าหม้อ กับน้ำข้าว ผึ่งแดดให้แห้ง เมื่อจะลบตัวหนังสือ ที่เขียนด้วยดินสอขาว ใช้น้ำลบทำให้ กระดานเปียก ฉะนั้นจึงต้องหยุด ตากกระดาน ให้แห้งเสียก่อน แล้วจึงเรียนต่อไป



กระดานชนวนอีกชนิดหนึ่งไว้สำหรับนักเรียนชั้น ๓ ทำด้วยไม้ทองหลางหรือไม้งิ้ว โดยทำให้เป็นแผ่นกระดาน กว้างศอก ยาวศอกคืบ แล้วก็มีกรอบ ดินสอที่ใช้เขียนกับกระชนวน ใช้ดินสอพอง คือเอาดินสอพองแช่น้ำให้เปียก



กระดานดำในปัจจุบัน เป็นอุปกรณ์ในการเขียนที่สามารถใช้ซ้ำได้ โดยสามารถเขียนอักษรหรือวาดภาพได้โดยใช้ชอล์ก หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเขียนแล้วลบได้ซึ่งมีต้นแบบมาจากกระดานชนวน
บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #54 เมื่อ: มิถุนายน 12, 2013, 12:27:39 PM »

เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง

ในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นอีกหนึ่งวันเทศกาลสำคัญของจีน นั้นคือวันเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง หรืออีกชื่อเรียกว่าเทศกาลตวนอู่ เป็นงานเทศกาลเพื่อรำลึกถึงคุดก้วน หรือ ชูหยวน จินตกวีเอกสำคัญของจีน


ในสมัยจ้านกว๋อ (เลียดก๊ก) ชูหยวน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 203 ในรัชสมัยของฉู่ซวนหยาง ด้วยความสามารถ ฉลาดเฉลียว  และความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้ชูหยวนได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมากจากฉู่ไหวหวาง จนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “จั่วถู” ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี


ชูหยวนมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนสร้างให้แคว้นฉู่เจริญรุ่งเรือง ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุข โดยคิดที่จะปฏิรูปกฎหมายเสียใหม่ ถึงแม้ว่าในช่วงต้นจะได้รับการสนับสนุนจากฉู่ไหวหวาง  แต่แนวคดิของชูหยวนทำให้ต้องขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจเก่าที่เสียผลประโยชน์ นำโดยจิ้นซ่าง ซึ่งมีสนมคนโปรดของฉู่ไหวหวางหนุนหลังอยู่ โดยพยายามที่จะใส่ร้ายชูหยวนตลอดเวลา จนฉู่ไหวหวางเริ่มไม่สนพระทัยต่อชูหยวนแม้ว่าจะเสนอความคิดที่โดดเด่นสักเพียงใด ทำให้ชูหยวนหมดหวังในการปฏิบัติหน้าที่และใช้เวลาไปกับการแต่งบทกวีมากยิ่งขึ้น
 
                 แคว้นฉินเองก็มีความคิดที่จะยึดครองแคว้นฉู่ให้ได้ แต่สนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับแคว้นฉีซึ่งชูหยวนสร้างไว้กลับเป็นอุปสรรคในการยึดครอง แคว้นฉินจึงใช้เงินและทองคำติดสินบนจิ้นซ่างและนางเจิ้งสิ้ว แกนนำของกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นศัตรูของชูหยวน ให้ดำเนินการขับไล่ชูหยวนออกจากราชการ และให้ฉู่ไหวหวางดำเนินการประกาศตัดความสัมพันธ์กับแคว้นฉี โดยที่ว่าแคว้นฉินจะมอบดินแดน 600 ลี้เป็นข้อแลกเปลี่ยน แต่เมื่อฉู่ไหวหวางดำเนินการแล้วแคว้นฉินหาได้ดำเนินการตามที่สัญญาไม่ ฉู่ไหวหวางจึงยกกองทัพบุกแค้วนฉินในปี พ.ศ.231 แต่ก็พ่ายแพ้กลับมา อีกทั้งยังเสียดินแดนไปบางส่วนอีกด้วย
 
                ทางด้านแคว้นฉีที่ไม่พอใจที่แคว้นฉู่ประกาศตัดความสัมพันธ์จึงยกทัพมายึดครองดินแดนบางส่วนด้วยเช่นกัน แต่ไม่นานจางอี้ได้วางแผนเสนอข้อตกลงให้ฉู่ไหวหวางเดินทางไปเจรจากับฉินอ๋อง ด้วยคำยุยงจากจิ้นซ่างทำให้ถูกกองกำลังแคว้นฉินจับตัว กักขังจนเสียชีวิตในอีกสามปีต่อมา
 
                เมื่อฉู่ไหวหวางถึงแก่กรรมแล้ว ฉู่ฉิงเซี่ยงหวาง ได้ขึ้นครองราชย์แทน ชูหยวนหวังว่าอ๋องคนใหม่จะโกรธแค้นที่บิดาถูกยุยงจนถูกจับตัว จึงเสนอให้ฉู่ฉิงเซี่ยงหวางลงโทษจิ้นซ่างและพวก แต่กลับเป็นชูหยวนเองที่ถูกลงโทษขับไล่ออกจากราชการและเนรเทศไปอยู่แถวเชียงหนาน ห้ามกลับสู่เขตเมืองหลวงอีกต่อไป
 
                ขณะนั้นเป็นปี พ.ศ. 247 ชูหยวนมีอายุได้ 48 ปี เมื่อถูกเนรเทศ ชูหยวนได้ประพันธ์บทกวีต่างๆ มากมาย ที่แสดงถึงความคิดทางสังคมและการเมือง รวมถึงปณิธานของชูหยวนเองที่มีต่อประเทศชาติ เช่น จี๋ซ่ง, จิ่วเกอ, หลี่เซ่า, เทียนเวิ่น เป็นต้น
 
                ในปี พ.ศ. 265 ขณะที่ชูหยวนอายุได้ 66 ปี หยิ่งตูเมืองหลวงของแคว้นฉู่ถูกแคว้นฉินเข้ายึดครองได้เป็นผลสำเร็จ ชูหยวนได้แต่งบทกวี อายหยิ่ง (สมเพชหยิ่งตู) ขึ้น บทกวีชิ้นนี้มีเนื้อหาแสดงความโศกเศร้าที่ต้องสิ้นชาติ และ เส้อเจียง, ซือหว่างยือ และ หวนซา จากนั้นเขาได้อุ้มก้อนหินก้อนใหญ่และกระโดดลงสู่แม่น้ำมี่หลอเจียง เมื่อวันที่ 5 เดือน 5 ปีเดียวกัน
 
                ชูหยวนเป็นกวีและขุนนางที่ประชาชนรักเพราะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเรื่อยมา เมื่อทราบข่าวที่ชูหยวนกระโดดน้ำฆ่าตัวตายแล้ว ชาวประมงในแถบนั้นต่างก็พากันออกเรือเพื่อไปค้นหาศพ และเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเล็กปลาน้อยมาแทะกินศพ จึงเอาข้าวปลาอาหาร โยนลงน้ำ แต่ก็หาศพของซูหยวนไม่พบ ในปีต่อมาชาวบ้านก็มาโยนอาหารเช่นนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงชูหยวน เมื่อทำไปได้ 2 ปี มีชาวบ้านในละแวกนั้นฝันเห็นชูหยวนในชุดอันสวยงาม มาบอกว่าที่ชาวบ้านโยนอาหารนั้น เขาขอบคุณเป็นอย่างมากแต่อาหารที่ส่งมานั้นถูกปลาเล็กปลาน้อยกินไปหมดแล้ว เหลือถึงชูหยวนเพียงเล็กน้อย ชาวบ้านได้ถามกลับไปว่าให้ทำอย่างไร ชูหยวนบอกว่าให้นำข้าวห่อในใบไม้แล้วโยน เพื่อเป็นการหลอกปลาว่าเป็นเพียงต้นไม้ จะไม่แทะกิน ในปีต่อมาเขาก็ยังมาเข้าฝันชาวบ้านอีกว่า เขาได้รับอาหารมากขึ้นแต่ก็ยังมีบางส่วนที่ถูกแทะกิน เขาจึงบอกให้ชาวบ้านออกเรือเป็นรูปมังกร เพื่อหลอกว่าเป็นการนำมาถวายเทพเจ้ามังกร ปลาทั้งหลายจะได้ไม่แทะกิน



ดังนั้น เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง จึงเป็นเทศกาลที่ชาวจีนจัดขึ้นทุกปี เพื่อรำลึกถึงการจากไปของกวีเอกของจีน นามว่า ชูหยวน โดยการใช้อาหารที่ห่อด้วยใบไม้ หรือที่เรียกว่า บ๊ะจ่าง ซึ่งเป็นอาหารคาวที่ทำด้วยข้าวเหนียวนำมาผัดน้ำมัน มีไส้หมูเค็มหรือหมูพะโล้ กุนเชียง ไข่เค็มเฉพาะไข่แดง กุ้งแห้ง เห็ดหอม เป็นต้น ห่อด้วยใบไผ่แล้วนึ่งให้สุก นอกจากนี้ ในเทศกาลดังกล่าวบางพื้นที่ยังจัดให้มีการแข่งเรือมังกรขึ้นด้วย


บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #55 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2013, 12:10:03 PM »

วันที่ ๒๖ มิถุนายน วันสุทรภู่


วันที่ ๒๖ มิถุนายน วันสุทรภู่

ประเทศไทยอยู่ตรงไหน
ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ในสายตาของ "สุนทรภู่"

พระสุนทรโวหาร (ภู่) ดูจะเป็นภาพแทนของความเป็นไทยแท้แต่ดั้งเดิมในสายตาของประชาชนชาวไทย

ชนิดที่ว่าขึ้นกาพย์กลอนบทใดมาก็ยัดใส่ปากสุนทรภู่ว่าเป็นคนแต่งเสียหมด

หากแต่สุนทรภู่นั้นเป็นคนเช่นไร? และประเทศไทยในยุคสุนทรภู่นั้นอยู่ตรงไหน?

บทประพันธ์ชิ้นเอกของสุนทรภู่ "พระอภัยมณี"

เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของประเทศไทยร่วมสมัยขณะนั้นเป็นอย่างดี โดย

"กาญจนาคพันธุ์" (ขุนวิจิตรมาตรา) ได้สันนิษฐานชื่อเมืองต่างๆ ใน "พระอภัยมณี"

ไว้ในหนังสือ "ภูมิศาสตร์สุนทรภู่"(2490) ดังนี้

"กรุงรัตนา" เมืองที่เป็นต้นกำเนิดของ "พระอภัยมณี" และ "ศรีสุวรรณ" สองศรีพี่น้องตัวละครเอก

เห็นจะไม่ใช่ที่ไหนอื่นไกล คือ "กรุงเทพทวาราวดีศรีรัตนโกสินทร์" หรือ Bangkok

"เมืองผลึก" ของนางสุวรรณมาลี นั่นก็คือ "ภูเก็ต" ที่มีหาดทรายขาวราวแก้วผลึก

"ลังกา" ของอุศเรนและนางละเวงวันฬา ซึ่งเป็นฝรั่ง คือเกาะศรีลังกา ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยบริติชราช

อาณานิคมอังกฤษในสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรีย

"เกาะแก้วพิสดาร" นั้นหรือ ก็หาใช่เกาะเสม็ดไม่ แต่คือเกาะหนึ่งในหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งรวมเรียกว่า

"นาควารินสินสมุทร" ซึ่งมีเกาะแก่งน้อยใหญ่เป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตและชนเผ่าประหลาดมากมาย

รวมทั้งผีเสื้อสมุทร ชีเปลือย ม้านิลมังกร เงือก

นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังได้ยกเอาหัวเมืองประเทศน้อยใหญ่ในโลก เข้ามาพูดถึงในเรื่อง "พระอภัยมณี"

อย่างมากมายมหาศาล ดังปรากฏในบทสงครามเก้าทัพซึ่งกรุงลังกายกทัพมารบกับเมืองผลึกว่า

เมืองละหุ่งกรุงเตนกุเวนลวาด
เมืองวิลาศวิลยาชวาฉวี
ถึงเมืองเงาะเกาะวลำสำปะลี
จะชิงตีเมืองผลึกเป็นศึกรุม...

...ล้วนมีธงลงหนังสือชื่อประเทศ
เมืองละเมดมลิกันสำปันหนา
กรุงกวินจีนตั๋งอังคุลา
ที่ยกมาทางบกอีกหกทัพ

สงครามโลกระหว่าง "ฝรั่ง" - นางละเวงและพันธมิตร อันได้แก่ เมืองวิลาศ (อังกฤษ)

วิลยา (สเปน) ชวา (ในอาณัติดัทช์) มลิกัน (อเมริกา) ฯลฯ กับ "ไทย"

(พระอภัยมณีเมืองผลึกและพันธมิตร) จบลงได้ด้วยกลอุบายของพระอภัยมณี คือ

รวบหัวรวบหางนางละเวงเอาเป็นมเหสีเสียอีกคนหนึ่งด้วยเพลงปี่

ต้อยตะริดติดตี่เจ้าพี่เอ๋ย
จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน
แอ้อีอ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย
แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย

ฉุยฉายชื่นรื่นรวยระทวยทอด
จะกล่อมกอดกว่าจะหลับกับเขนย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย
ใครจะเชยโฉมน้องประคองนวล

นัยว่าเปลี่ยนการรบ เป็นการรัก make love not war รักษาเอกราชของเมืองผลึก

และกรุงรัตนาจากกองทัพต่างชาติแบบไม่เสียเลือดเสียเนื้อทหารพินาศกันไปหมดมากกว่านี้

ประเทศไทยในสายตาของสุนทรภู่นั้น จึงดูเป็นประเทศที่เล็กและยังอ่อนแอ

ไม่สามารถรับศึกกับนักล่าอาณานิคมด้วยกำลังได้ และต้องคบประเทศต่างๆ ผูกไมตรี

ใช้วาทศิลป์และวิชาดนตรีกล่อมให้เป็นมิตรไว้ เพื่อเรียนรู้สรรพวิชาให้ก้าวทันสมัยต่อไป

สุนทรภู่เองก็เป็นผู้ที่มีสายตากว้างไกล คบมิตรสหายพ่อค้าและผู้รู้ที่ผ่านประสบการณ์เดินเรือต่างชาติมากมาย จึงประพันธ์นิทานกลอนชั้นเอก "พระอภัยมณี" เป็นภาพแทนสยามและโลกในยุคล่าอาณานิคมได้ประทับใจชาวบ้านร้านตลาด ติดแน่นฝังตรึงในโลกหนังสือไทยมาจนบัดนี้

มหากวีแห่งชาติไทย "สุนทรภู่" ยังทอดสายตาดูประเทศรอบข้างและตระหนักในความจริงของประเทศ

และสถานการณ์ทั่วโลกตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว แล้วชาวไทยทุกวันนี้ล่ะ?


บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #56 เมื่อ: มิถุนายน 26, 2013, 12:13:42 PM »

วันที่ ๒๖ มิถุนายน วันสุทรภู่

ถ้าเอ่ยชื่อ "สุนทรภู่" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม  หรือ “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" ซึ่งมักจะมีการจัดนิทรรศการ ประกวดแต่งคำกลอน เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึง เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาด ขอพาไปเปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" ให้มากขึ้นค่ะ...

ชีวประวัติ "สุนทรภู่"

          สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 8.00 น. นั่นเอง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม อีกด้วย

          "สุนทรภู่" ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี

          ต่อมาสุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก เขากับแม่จันก็เดินทางไปหาบิดาที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ “พ่อพัด” ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนสุนทรภู่กับแม่จันก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป

          หลังจากนั้น สุนทรภู่ ก็เดินทางเข้าพระราชวังหลัง และมีโอกาสได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 และเขาก็ได้แต่ง “นิราศพระบาท” พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย และหลังจาก “นิราศพระบาท” ก็ไม่ปรากฏผลงานใดๆ ของสุนทรภู่อีกเลย

          จนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนแต่งตั้งให้เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร"

          ต่อมาในราว พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และ เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ "พ่อตาบ

          "สุนทรภู่" รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) อยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง ได้แก่ วัดเลียบ, วัดแจ้ง, วัดโพธิ์, วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขา คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385 ทั้งนี้ ระหว่างที่ออกเดินทางธุดงค์ ภิกษุภู่ได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชมน์ สุนทรภู่จึงลาสิกขา รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษา ก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย

          ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ. 2394 และรับราชการต่อมาได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่"

          สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ"พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"

ผลงานของสุนทรภู่

          หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฏเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้คือ…

ประเภทนิราศ

          - นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง

          - นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา

          - นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง

          - นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา

          - รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขา

          - นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) –เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี

          - นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

ประเภทนิทาน

          เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องสิงหไกรภพ

ประเภทสุภาษิต

          - สวัสดิรักษา- คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์

          - สุภาษิตสอนหญิง - เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่

          - เพลงยาวถวายโอวาท - คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

ประเภทบทละคร

          - เรื่องอภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเภทบทเสภา

          - เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)

          - เรื่องพระราชพงศาวดาร

ประเภทบทเห่กล่อม

          แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องกากี


ตัวอย่างวรรคทองที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่

          ด้วยความที่สุนทรภู่เป็นศิลปินเอกที่มีผลงานทางวรรณกรรม วรรณคดีมากมาย ทำให้ผลงานหลาย ๆ เรื่องของ สุนทรภู่ ถูกนำไปเป็นบทเรียนให้เด็กไทยได้ศึกษา จึงทำให้มีหลาย ๆ บทประพันธ์ที่คุ้นหู หรือ "วรรคทอง" ยกตัวอย่างเช่น

 บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง



ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ



ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา



 บางตอนจาก นิราศอิเหนา


จะหักอื่นขืนหักก็จักได้
หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก
แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ


 บางตอนจาก พระอภัยมณี


บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว
สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา
ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)




แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)



อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แค่องค์พระปฏิมายังราคิน
คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา



เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก     
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล



ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา

แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมประทุมทอง

แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์
จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง
เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

(ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ได้ถูกนำไปดัดแปลงเล็กน้อยกลายเป็นเพลง "คำมั่นสัญญา")


 บางตอนจาก เพลงยาวถวายโอวาท


อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ
ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก
จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย



อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ





 บางตอนจาก สุภาษิตสอนหญิง


มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน



จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึ้งขึ้นกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ



เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาพิเคราะห์ให้เหมาะความ



รู้วิชาก็ให้รู้เป็นครูเขา
จึงจะเบาแรงตนช่วยขนขวาย
มีข้าไทใช้สอย ค่อยสบาย
ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง





 บางตอนจาก ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม


แม่รักลูก ลูกก็รู้ อยู่ว่ารัก
ใครอื่นสัก หมื่นแสน ไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่า เมตตาเตือน
จะจากเรือน ร้างแม่ ก็แต่กาย



ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ
เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน

(ขุนแผนสอนพลายงาม)


 บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ


 บางตอนจาก นิราศพระบาท

เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
เพราะดั้นด้นอยากลิ้มชิมรสหวาน
ครั้นได้รสสดสาวจากจาวตาล
ย่อมซาบซ่านหวานซึ้งตรึงถึงทรวง

ไหนจะยอมให้เจ้าหล่นลงเจ็บอก
เพราะอยากวกขึ้นลิ้นชิมของหวง
อันรสตาลหวานละม้ายคล้ายพุ่มพวง
พี่เจ็บทรวงช้ำอกเหมือนตกตาล...



ที่มาของวันสุนทรภู่

          องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปีขึ้นไป ประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั่วโลก และเพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ

          ในการนี้ รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่อง "สุนทรภู่" ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ 200 ปีเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดให้ วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่" ซึ่งนับแต่นั้น เมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ "วัดเทพธิดาราม" และ ที่จังหวัดระยอง และมีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ โดยทั่วไป

          ทั้งนี้ ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ไว้ที่ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นกำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ในวันสุนทรภู่

          1. มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงาน
          2. มีการแสดงผลงานประเภทนิทานฯ ของสุนทรภู่
          3. มีการประกวด แข่งขัน ประชันสักวา ตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติชีวิต และผลงานของสุนทรภู่




บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #57 เมื่อ: กรกฎาคม 08, 2013, 08:54:39 PM »

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ

เนื่องในวันนี้ในครั้งอดีต วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 เป็นวันที่พุทธทาสภิกขุ มรณภาพด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ด้วยวัย 87 ปี ทีมงาน toptenthailand ขอรำลึกถึงท่านด้วยหัวข้อ “10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พุทธทาสภิกขุ”

เครดิต : คุณชายสิบหน้า

แหล่งที่มา : Wiki pedia



10. มรณภาพ



ท่านพุทธทาสภิกขุ อาพาธด้วยโรคหลอดเลือดในสมองแตก ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ หลังจากที่ท่านเคยอาพาธมาหลายครั้งด้วยโรคต่าง ๆ ตามวัยและสังขารตามธรรมชาติ ในการอาพาธครั้งนี้ ท่านหมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) แพทย์บอกว่า ถ้าเป็นในคนหนุ่มสาวคงตายแล้ว เพราะในคนหนุ่มสาว เนื้อสมองจะแน่นเต็มกระโหลกศีรษะ เลือดออกไม่มากนักก็กดเนื้อสมองได้มาก ทำให้ตายได้อย่างรวดเร็ว แต่ในคนสูงอายุ เนื้อสมองหดเล็กลง (สมองฝ่อ) จึงมีช่องว่างให้เลือดออกมาแทรกอยู่ได้โดยไม่กดเนื้อสมองมากนัก แต่ท่านก็มรณภาพด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536

9. ได้รับการยกย่อง



ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับการสดุดีว่าเป็นมหาปราชญ์แห่งพุทธธรรมทางบูรพาทิศ ที่มีเกีตรติคุณไม่น้อยไปกว่าท่านนาคารชุน ปราชญ์ใหญ่ฝ่ายมหายานในอดีต ปัญญาชนทั้งไทยและต่างประเทศถือว่า ท่านเป็นนักปฏิรูปพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดรูปหนึ่งของเมืองไทย


8. ผลงานเด่น




ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม, ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และเป็นสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ และท่านมีสหายธรรมคนสำคัญ คือ ปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤษฎ์ และ ท่าน บ.ช. เขมาภิรัตน์


7. สมณศักดิ์



ท่านรับได้ชื่อ พระเงื่อม ใน พ.ศ. 2469 ต่อมาในปี 2473 เป็น พระมหาเงื่อม และเลื่อนเป็น พระครูอินทปัญญาจารย์ พระอริยนันทมุนี พระราชาคณะชั้นสามัญ , พระราชชัยกวี พระราชาคณะชั้นราช , พระเทพวิสุทธิเมธี พระราชาคณะชั้นเทพ ตามลำดับ และ สมณศักดิ์สุดท้ายคือ พระธรรมโกศาจารย์ พระราชาคณะชั้นธรรม


6. ชีวิตวัยเยาว์



เมื่ออายุได้ 8 ขวบ บิดามารดาได้พาท่านพุทธทาสภิกขุไปฝากตัวเป็นเด็กวัดที่วัดพุมเรียง หรือวัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่คนในสกุลพานิชเคยบวชสืบต่อกันมา โดยในสมัยก่อนที่จะมีโรงเรียนนั้น พ่อแม่มักจะให้ลูกชายได้อยู่ที่วัด เพื่อที่จะให้ได้รับการศึกษาขั้นต้นตามแบบโบราณ รวมทั้งจะได้มีการคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา


5. ชีวิตวัยหนุ่ม




เมื่ออายุได้ 11 ขวบ ท่านพุทธทาสภิกขุได้กลับมาอยู่ที่บ้าน และเข้าเรียนที่วัดโพธาราม หรือวัดเหนือ โรงเรียนในวัดนี้เป็นโรงเรียนแผนใหม่ ซึ่งใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในสมัยนั้นมีการเกณฑ์พระจากทั่วประเทศไปอบรมครูที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกลับมาสอนยังท้องถิ่นเดิมของตน ที่วัดโพธาราม มีครูที่ไปอบรมในครั้งนั้นชื่อครูวัลย์ จากนั้นก็สืบต่อมายัง ครูทับ สุวรรณ และท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้เล่าเรียนกับครูผู้นี้ ในสมัยก่อนที่ท่านพุทธทาสภิกขุจะมีอายุครบบวชนั้น วงการศาสนาท้องถิ่นในพุมเรียงกำลังตื่นเต้นกับการศึกษานักธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาธรรมะแบบใหม่ที่พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำริให้มีขึ้น ท่านพุทธทาสภิกขุในสมัยนั้นก็ค้นคว้าหาหนังสือนักธรรมตรี โท เอก รวมทั้งหนังสือพระอภิธรรมมาอ่าน แล้วอาศัยบ้านของตนเองเป็นเวทีสังกัจฉา คอยพูดคุยตอบโต้ปัญหาธรรมะกับผู้อื่นในละแวกเดียวกัน ซึ่งถึงแม้ท่านพุทธทาสภิกขุจะยังมีอายุน้อย แต่ก็เชี่ยวชาญและฉะฉานในข้อธรรมจนผู้ที่มาคุยด้วยต่างยอมรับ

4. บรรพชิต



ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเรียนตามประเพณี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ การบวชของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นไปตามธรรมเนียม และไม่คิดที่จะบวชไม่สึก หลังจากบวชได้เพียง 10 วัน ท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นแสดงธรรม ในการนี้ท่านได้ปฏิวัติการเทศน์เสียใหม่ คือแทนที่จะเทศน์โดยอ่านจากคัมภีร์ใบลานอย่างเดียว ก็นำเนื้อหาจากหลักสูตรนักธรรมไปประกอบขยายความ ทำให้การเทศน์เป็นไปด้วยความสนุกและเข้าใจง่าย ผู้ที่ได้ฟังจึงติดใจและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนั้น พระที่พอจะเทศน์ได้ในวัดล้วนแต่อิดเอื้อนไม่อยากเทศน์ จึงเป็นเป็นโอกาสให้ท่านพุทธทาสภิกขุได้ขึ้นเทศน์ทุกวันในพรรษาเทศน์ และเทศน์ทุกวันพระในช่วงนอกพรรษา ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุก็รักชอบที่จะทำงานนี้ นอกจากการเทศน์แล้ว ช่วงพรรษาแรกท่านพุทธทาสภิกขุยังได้เรียนนักธรรม และเพลิดเพลินอยู่กับการอ่านและเขียนหนังสือ รวมทั้งการคัดลอกและซ้อมแต่งกระทู้ จนทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสอบได้นักธรรมตรีในพรรษานี้เอง กิจวัตรการนั่งกับที่เป็นเวลานานทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นโรคกระษัย แต่ท่านก็รักษาด้วยตนเองจนหายในพรรษาต่อๆ ไป


3. ครอบครัว



บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เซี้ยง พานิช ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีเชื้อสายจีน มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องสองคน ซึ่งมีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ 3 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชาย ชื่อ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และสนองงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ กิมซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่บ้านดอน และใช้นามสกุลสามีว่า เหมะกุล


2. เกิด



เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ณ บ้านกลาง ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี


1. ชื่อเสียงเรียงนาม



ท่านมีนามว่า พระธรรมโกศาจารย์ ชื่อจริงท่านคือ เงื่อม อินทปัญโญ หรือเรารู้จักท่านในนาม พุทธทาสภิกขุ

**หมายเหตุ

ข้อมูลทั้งหมดที่ทาง Toptenthailand.com นำเสนอได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นเชิงสถิติ ด้วยขั้นตอนที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ของหัวข้อนั้นๆ ทางเว็บไซต์ Toptenthailand.com มิได้มีเจตนาที่จะนำเสนอข้อมูลดังกล่าวเพื่อชี้นำ หรือ ก่อให้เกิดความแตกแยกใดๆ ในสังคมทั้งสิ้น เราและทีมงานเพียงแต่ต้องการนำเสนอข้อมูลทางสถิติที่เรารวบรวมเพื่อเป็นสาระ และเป็นการสะท้อนอีกด้านหนึ่งของสังคม ให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต และประชาชน ทั่วไปรับชมเท่านั้น (โปรดใช้วิจารณญาณในการชม และบริโภคข้อมูลจาก Toptenthailand.com) และหรือในบางกรณี www.Toptenthailand.com จะทำหน้าที่ เป็นสื่อกลางในการรวบรวม และนำเสนอข้อมูลในการจัดอันดับที่มีอยู่แล้วในสื่อต่างๆ ทั้งทาง Internet และสิ่งพิมพ์ โดยเราจะอ้างอิง ให้เครดิต ถึงแหล่งที่มาในทุกๆ ครั้งไป


บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #58 เมื่อ: กรกฎาคม 15, 2013, 10:29:43 AM »

"เข้าพรรษา" ประเพณีสำคัญของชาวพุทธ





วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม


การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา


วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน Cool หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) มีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8


สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยน

ประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"


นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย


การเข้าพรรษาของพระสงฆ์ตามพระวินัยปิฎก

ตามพระวินัย พระสงฆ์รูปใดไม่เข้าจำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงปรับอาบัติแก่พระสงฆ์รูปนั้นด้วยอาบัติทุกกฎ


และพระสงฆ์ที่อธิษฐานรับคำเข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น"ขาดพรรษา" และต้องอาบัติทุกกฎเพราะรับคำนั้น รวมทั้งพระสงฆ์รูปนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา ไม่ได้อานิสงส์กฐินตามพระวินัย และทั้งยังห้ามไม่ให้นับพรรษาที่ขาดนั้นอีกด้วย


ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์

การเข้าพรรษาตามพระวินัยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน


ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์

แม้การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรง ที่จะละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม แต่ว่าในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้น อาจมีกรณีจำเป็นบางอย่าง ทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างที่อื่น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป ตามที่ทรงระบุไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐานบิดามารดา แต่ทั้งนี้ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" ซึ่งเหตุที่ทรงระบุว่าจะออกจากที่จำพรรษาไปได้ชั่วคราวนั้นเช่น


- การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย เป็นต้น กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และมารดาบิดา

- การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5

- การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือ การไปทำสังฆกรรม เช่น สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น

- หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทสนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ ก็จะไปค้างไม่ได้.


ซึ่งหากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัย ก็ถือว่า ขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้)

ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องไปได้ และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะ แต่ต้องกลับมาภายในเจ็ดวัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังกล่าวแล้ว


ประเพณีถวายเทียนพรรษา

ประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษาและจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ


ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน (ก่อนเข้าพรรษา)

ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย "ผ้าวัสสิกสาฏก" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน


ประเพณีถวายผ้าจำนำพรรษา (หลังออกพรรษา)

ผ้าจำนำพรรษา หรือ ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก เป็นผ้าไตรจีวรที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ที่ผ่านวันปวารณาไปแล้ว หรือที่ผ่านวันปวารณาและได้กรานและอนุโมทนากฐินแล้ว ซึ่งผ้าจำนำพรรษานี้พระสงฆ์สามารถรับได้ภายในกำหนด 5 เดือน ที่เป็นเขตอานิสงส์กฐิน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4

แต่สำหรับพระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน และผ่านวันปวารณาไปแล้ว ซึ่งไม่ได้กรานและอนุโมทนากฐิน ก็สามารถรับและใช้ผ้าจำนำพรรษาได้เช่นกัน แต่สามารถรับได้ในช่วงกำหนดเพียง 1 เดือน ในเขตจีวรกาลสำหรับผู้ไม่ได้กรานกฐินเท่านั้น


การถวายผ้าจำนำพรรษาในช่วงดังกล่าว เพื่ออนุเคราะห์แก่พระสงฆ์ที่ต้องการจีวรมาเปลี่ยนของเก่าที่ชำรุด พุทธศาสนิกชนจึงนิยมถวายผ้าจำนำพรรษามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล




บันทึกการเข้า

finghting!!!
jainu
Moderator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 11494


« ตอบ #59 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2013, 08:40:40 PM »

Mother's day


ประวัติความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติ


วันแม่แห่งชาติในประเทศไทย ปัจจุบันตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี


ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ราชินีนาถ โดยเริ่มใช้วันดังกล่าวเป็นวันแม่แห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2519 ก่อนหน้านั้นเคยใช้วันที่ 10 มีนาคม, 15 เมษายน, และ 4 ตุลาคม


สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาว ส่งกลิ่นหอมได้ไกลและได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยตีความเปรียบกับความรักบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่เสื่อมคลาย


ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย


งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน


ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา



แม่ เป็นภาระให้แก่ลูกทุกคนมาตั้งแต่เกิด นั่นเป็นความจริงที่เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ก็ลองคิดดูสิ ตั้งแต่เราเกิดมายังไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย อยู่ดีๆผู้หญิงคนนี้ก็มาโอบอุ้ม ถูกเนื้อต้องตัวเรามิวายที่เราจะแหกปากร้องไห้ขับไล่ไสส่งยายผู้หญิงคนนี้ขนาดไหน เธอก็ยังพยายามปลอบโยนเห่กล่อมเราอยู่นั่นแหละเป็นภาระให้เราต้องจำใจเงียบยอมนอนดูดนมเธออยู่จั่บ ๆ ๆ

พอเราเริ่มเตาะแตะตั้งไข่จะเดินไปไหนต่อไหนมั่งคุณเธอก็ยังคอยเรียกหาเราอยู่นั่นแหละ

"มานี่มาลูก มานี่มา อีกนิดเดียวลูก อีกนิดเดียว อีกก้าวเดียว" ไม่รู้จะเรียกทำไมนักหนาเราก็เดินล้มลุกคลุกคลานอยู่เห็นมั้ยเป็นภาระที่เราต้องเดินไปให้เธอกอดอีก

โตขึ้นมาอีกนิดเราเริ่มกินอาหารได้หล่อนก็เอาอะไรนักหนาไม่รู้เละ ๆ เทะ ๆมาบดให้เรากิน เราจะไม่กินก็ไม่ได้เดี๋ยวแม่จะน้อยใจก็เอาวะเอาซะหน่อยเคี้ยวไปเเจ่บ ๆอย่างนั้นแหละ แม่คุณก็ยิ้มปลื้มคงนึกว่าเราอร่อยตายล่ะมั้งนั่นน่ะกล้วยบดนะจ๊ะ เธอจ๋าในปากฉันตอนนี้น่ะถ้าคิดว่ามันอร่อยขนาดนั้น ทำไมไม่ลองทานเองดูมั่งล่ะ

ทีนี้พอเราเริ่มพูดจารู้เรื่องขึ้นมาหน่อย คราวนี้ยังไงล่ะผู้หญิงคนนี้กลับขับไล่ไสส่งให้เราไปโรงเรียนซะอีกไม่ไปก็ไม่ได้ด้วยนะ บางทีมีตีเราเข้าให้อีกภาษาอะไรนักก็ไม่รู้ เอามาให้เราหัดอ่านหัดเรียนใช่มั้ย ลองคิดดูนะสัปดาห์หนึ่งต้องไปโรงเรียนตั้งห้าวันน่ะมันภาระหนักหนาแก่เราแค่ไหน

แต่พอถึงเวลาเราจะดูทีวี ดูหนังการ์ตูนนอนดึกขึ้นมาสักหน่อยลองนึกย้อนไปสิ ใครกันเคี่ยวเข็ญให้เราไปนอนด้วยตัวเองง่วงจะนอนคนเดียวก็ไม่ได้นะ ต้องบังคับให้เราไปนอนเป็นเพื่อนด้วย ใช่มั้ย ที่พูดนี่ไม่ใช่ลำเลิกหรอกนะเพียงแค่อยากให้เห็นใจกัน บ้างเท่านั้น

วันเวลาผ่านไป เราโตขึ้นแต่แม่ก็ยังไม่ยอมโตตามเราสักที ลูกอยากจะทำผมทำเผ้าแต่งเนื้อเเต่งตัวให้มันดูอินเทรนด์ดูทันสมัย ใคร ใครกันเป็นตัวสกัดดาวรุ่งพูดแล้วขนลุกผู้หญิงคนนี้มีพัฒนาการไม่คืบหน้าไปไหนเลย..ว่ามั้ย

พอเราสำเร็จจบการศึกษาเเล้วเป็นยังไง... เธอร้องไห้ครับ เชื่อเถอะว่าเธอต้องร้องไห้ ถ้าเราไม่เห็นก็แปลว่าเธอต้องแอบร้องไห้มีอย่างที่ไหนเราคร่ำเคร่งร่ำเรียนมาแทบตาย แล้วตัวเองแท้ ๆ ที่เป็นคนเริ่มเรื่อง พอเราเรียบจบแทนที่จะดีใจดันมาร้องไห้ มีอย่างที่ไหน

ดีนะว่าเราเข้าใจ คู่มือการเลี้ยงแม่ก็เลยทำใจได้ ฝากเอาไว้ก่อนเถอะ ตอนนี้ขอไปฉลองการสำเร็จการศึกษากับพวกเพื่อนๆที่นอกบ้านก่อนก็แหมเรียนจบทั้งที จะมาให้นั่งดูผู้หญิงแก่ ๆนั่งร้องไห้ทำไมล่ะ..ใช่มั้ย

เป็นหนุ่มเป็นสาวกันแล้วนี่ คราวนี้ใครๆก็ต้องอยากมีแฟน คนโน้นก็ไม่ดีคนนี้ก็เรื่องมาก ผมยาวไปมั่งล่ะดูไม่มีความรับผิดชอบมั่งล่ะ...แม่ แม่จะไปรู้อะไรแม่เคยคบกับเขาเหรอ

ไม่ใช่แค่เรื่องคู่ครองเท่านั้นนะ แม่เขายังอยากรู้ไปจนถึงเรื่องอาชีพการงานด้วยว่าเราจะไปทำอะไร อยากเป็นอะไร

แม่ครับ แม่ไม่รู้สักเรื่องจะได้มั้ยพวกเราจะเป็นอะไรมันก็เรื่องของพวกเราอนาคตของเรา ขอให้เราได้ตัดสินมันเอง แต่เรารับรองกับแม่ได้อย่างหนึ่งว่า เราจะไม่เป็นเหมือนแม่หรอก... เชย

นับจากบรรทัดแรกจนมาถึงบรรทัดนี้ เวลาก็ผ่านไปหลายปีแล้วสมควรที่พวกเราจะแต่งงานมีครอบครัวเป็นของตนเองสักที ว่าแล้วเราก็ย้ายออกจากบ้านแม่ มายืนด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างที่แม่เคยพูดไง แล้วทำไมต้องมาทำตาละห้อยด้วยล่ะ วันที่เราย้ายออกมาน่ะมันก็ไม่ได้ใกล้มันก็ไม่ได้ไกลหรอกนะ ที่ย้ายออกมาน่ะ แต่เวลามันรัดตัวจริงๆใช้โทร.คุยกันก็ได้นะแม่นะ

ถึงวันที่เรามีลูก แม่ยังพยายามอยากมาทำตัวเป็นภาระกับลูกเราด้วย เราบอกแม่ว่าไม่ต้องมายุ่งหรอก เราดูแลลูกของเราได้ เด็กสมัยนี้มันไม่เหมือนกับสมัยแม่แล้วล่ะ

แม่อายุเกือบหกสิบปีแล้ว โทร.มาไอแค่ก ๆ บอกไม่ค่อยสบาย เราบอกแม่ว่าอย่าคิดมาก ในใจเรารู้อยู่แล้วว่าแม่พยายามเรียกร้องความสนใจ นั่นเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของคุณแม่วัยนี้

จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง คุณโทร.กลับไปที่บ้านแม่ แต่... ไม่มีคนรับสายแล้ว อย่าเพิ่งตกใจ แม่อาจจะออกไปทำบุญที่วัดตามประสาคนแก่ก็ได้ ลองโทร.เข้ามือถือแม่ดูซิ...ไม่มีสัญญาณตอบรับจากเลขหมายที่ท่านเรียก...

อย่าเพิ่งด่วนสรุป มือถือแม่อาจจะแบตหมดก็ได้ ผู้หญิงคนนี้กระดูกเหล็กจะตายไปเธอต้องไม่เป็นอะไรแน่ ๆ คิดฟุ้งซ่านไปได้ยังไงแม่ก็ต้องรอเราอยู่เหมือนเดิมน่ะแหละ ไปหาเมื่อไหร่ก็ต้องเจอ อย่างมากแกก็อาจจะงอนนิดๆหน่อยๆพอเห็นหลานตัวเล็กๆวิ่งเข้าไปกอดก็ขี้คร้านจะอ่อนยวบเป็นขี้ผึ้ง หลายวันผ่านไปทำไมแม่ยังไม่โทร.กลับมาอีกนะ ทำบุญตักบาตรก็ไม่น่าจะรอคิวนานขนาดนี้ ชาร์จแบตมือถือไม่เต็มก็เป็นไปไม่ได้ ต่อให้เป็นแบตเตอรี่รถสิบล้อป่านนี้ไฟทะลักแล้ว

วันนี้แวะไปหาแม่สักหน่อยดีกว่า ระหว่างทางที่คุณขับรถไป ลูกคุณซนเป็นลิงอยู่ข้างๆประโยคมากมายที่หลุดจากปากคุณ ล้วนเเต่เป็นคำที่แม่คุณเคยพูดมาแล้วทั้งสิ้น คุณเพิ่งสัมผัสได้ ภาพเก่าๆมากมายที่ผู้หญิงคนนั้นทำวิ่งวนอยู่ในหัวคุณ ช่างเถอะ.. เดี๋ยวเจอเธอแล้วคุณจะสารภาพผิด แล้วทำทุกอย่างให้มันดีขึ้น แล้วคุณก็ได้เจอคนที่คุณรู้สึกว่าเธอเป็นภาระให้กับคุณมาตั้งแต่เกิด

ผู้หญิงคนนั้น นอนตายในท่าที่คอยคุณมาตลอดชีวิต...


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Forward Mail


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 13, 2013, 11:29:22 AM โดย jainu » บันทึกการเข้า

finghting!!!
Gold Price today, Gold Trend Price Prediction, ราคาทองคํา, วิเคราะห์ทิศทางทองคํา
   

images by free.in.th
Thanks: ฝากรูป dictionary ---------------------Charts courtesy of Moore Research Center, Inc. For more information on Moore Research products and services click here. --- http://www.mrci.com ---------- ---------------------------------------------รูปกราฟแสดงราคาทองในอดีตปี 1974-1999 ของ Moore Research Center, Inc. แสดงฤดูกาลที่ราคาทองขึ้นสูงสุดและตําสุด เอาแบบคร่าวๆ เส้นนําตาลหรือนําเงินก็ใกล้เคียงกัน เส้นนําตาลเฉลี่ย 15 ปี เส้นนําเงินเฉลี่ย 26 ปี ราคาตําสุดของเส้นนําตาล หรือเฉลี่ย 15 ปี ในเดือน ปลายเดือน เมษ และปลายเดือน สค ต่อต้นเดือน กย[/color] สูงสุดในเดือน กพ กับ พย / ส่วนเฉลี่ย 26 ปี ราคาตําสุด ต้น กค กับ ปลาย สค และราคาสูงสุดในเดือน กพ และ กลางเดือน ตค ----- แค่ดูคร่าวๆ เป็นแนวทาง อย่ายึดมั่นว่าจะต้องเป็นตามนี้ ข้างล่างเป็นกราฟราคานํามัน ตามฤดูกาล จาก Charts courtesy of Moore Research Center, Inc. images by free.in.th
Thanks: ฝากรูป dictionary
 บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: